คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19513-19514/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 กับพวกตระเตรียมอาวุธปืนมาแก้แค้นทำร้าย บ. พวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบ บ. ก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหา บ. โดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ – ขนอม เป็นเวลาหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบ บ. จึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วร่วมกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ว่ามิได้เกิดขึ้นจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหา บ. ได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 289 (4), 310, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายชัยพร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดต่อชีวิตและความผิดต่อเสรีภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 310 (ที่ถูก มาตรา 310 วรรคแรก), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เมื่อลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนมารวมได้อีก คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตสถานเดียว และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ในส่วนของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้าย 6 ถึง 7 คน ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้น 3 กระบอก จี้บังคับพาโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะขับไปตามถนนสายต่าง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วนำโจทก์ร่วมลงจากรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี ร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงโจทก์ร่วม 3 นัด กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมบริเวณสันหลัง ราวนมซ้าย รักแร้ซ้าย รักแร้ขวา ทรวงอกขวาและใบหน้า เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในความผิดทั้งสองฐานนี้อีก คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความได้ข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงเป็นลำดับเหตุการณ์มาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ยากที่จะแต่งเรื่องราวขึ้นมาเองเพื่อเบิกความได้ แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืน แต่ก็ได้ความจากโจทก์ร่วมว่าบริเวณหน้าห้องเช่าที่เกิดเหตุมีหลอดไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์หลอดยาวติดอยู่ที่เสาไฟฟ้าประมาณ 4 ถึง 5 ต้น ซึ่งแต่ละต้นห่างกันประมาณ 3.5 ถึง 4 เมตร ส่องสว่างทำให้สามารถมองเห็นกันได้ชัดเจน โดยเฉพาะโจทก์ร่วมรู้จักคุ้นเคยกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ทั้งโจทก์ร่วมเคยไปคุยกับจำเลยที่ 2 ที่บ้านเช่าและในคืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมก็ได้เดินเข้าไปพูดคุยสอบถามจำเลยที่ 2 ถึงเหตุที่มารอพบโจทก์ร่วม จึงมีโอกาสเห็นหน้าของจำเลยที่ 2 ได้อย่างใกล้ชิด เชื่อว่าโจทก์ร่วมสามารถมองเห็นและจดจำจำเลยที่ 2 ได้ตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว ประกอบกับในเวลาต่อมาโจทก์ร่วมก็ถูกจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ขึ้นรถกระบะและขับพาไปถนนต่าง ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ทั้งได้พูดสอบถามและข่มขู่บังคับรวมทั้งชกต่อยทำร้ายโจทก์ร่วมอยู่ภายในรถจนไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำตาปีสถานที่เกิดเหตุ หลังสุดจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้นำโจทก์ร่วมลงจากรถแล้วใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมเป็นคนแรก จึงไม่มีเหตุให้สงสัยว่า โจทก์ร่วมจะจำจำเลยที่ 2 ไม่ได้หรือจำผิดตัว ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ร่วมก็เคยเห็นหน้ามาก่อนเพราะเรียนอยู่วิทยาลัยเดียวกัน ในคืนเกิดเหตุขณะที่อยู่บริเวณหน้าตึกแถวห้องเช่าของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ก็แยกไปยืนอยู่ที่ข้างประตูรถด้านคนขับเพียงคนเดียว ย่อมทำให้เป็นจุดสนใจของโจทก์ร่วม ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ทำหน้าที่ขับรถตลอดการเดินทางและนั่งอยู่ที่เบาะคนขับตรงหน้าที่โจทก์ร่วมนั่งอยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง และยังเป็นผู้ที่คอยสอบถามโจทก์ร่วมถึงบ้านของนายเบิร์ดเป็นบางครั้งด้วย โจทก์ร่วมย่อมจะจดจำลักษณะท่าทาง รูปร่างรวมทั้งน้ำเสียงได้และย่อมจะมีโอกาสเห็นหน้าของจำเลยที่ 1 บ้างในขณะที่หันมาสอบถามโจทก์ร่วม เชื่อว่าโจทก์ร่วมจำจำเลยที่ 1 ได้ด้วย ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่โจทก์ร่วมอ้างว่าสามารถจดจำจำเลยทั้งสองได้ แต่กลับจดจำคนร้ายอื่นอีกประมาณ 5 คน ไม่ได้ ทั้งที่บุคคลทั้งเจ็ดต่างก็อยู่กับโจทก์ร่วมในระยะเวลาและสภาวะแวดล้อมเดียวกัน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงเป็นพิรุธให้น่าสงสัยนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมรู้จักกับจำเลยที่ 2 และเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 1 มาก่อนเพราะเรียนอยู่วิทยาลัยเดียวกัน ย่อมจะต้องคุ้นเคยและสามารถที่จะจดจำลักษณะท่าทางและรูปร่างของจำเลยทั้งสองได้มากกว่าคนร้ายอื่นที่โจทก์ร่วมไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ประกอบกับจำเลยที่ 2 ก็แสดงตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มที่มีส่วนกระทำต่อโจทก์ร่วมมากที่สุด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหน้าที่ขับรถตลอดการเดินทาง ทั้งยังสอบถามโจทก์ร่วมในบางเวลาด้วย จำเลยทั้งสองย่อมเป็นจุดสนใจของโจทก์ร่วมในอันที่จะทำให้โจทก์ร่วมให้ความสนใจมากกว่าคนอื่น การที่โจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าจำจำเลยทั้งสองได้จึงสมเหตุสมผล ไม่เป็นพิรุธแก่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังคงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมจริง จากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับคนร้ายอื่นใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงจ่อยิงโจทก์ร่วมที่ราวนมซ้ายกับรักแร้ โจทก์ร่วมตกใจวิ่งไปทางท้ายรถก็ถูกคนร้ายอีกคนหนึ่งล็อกคอและใช้ปืนยิงที่ด้านหลังบริเวณสะบักด้านซ้ายอีก 1 นัด และเมื่อโจทก์ร่วมล้มลงก็ถูกคนร้ายอีกคนหนึ่งใช้ปืนยิงที่ใบหน้าจนมีบาดแผลถูกยิงหลายแห่งได้รับอันตรายสาหัส เสียเลือดมากและต้องรักษาตัวไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กับพวกมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมไม่ถึงแก่ความตายเพราะแพทย์ผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงที การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ส่วนจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เป็นผู้มีเหตุทะเลาะวิวาทกับนายเบิร์ดพวกของโจทก์ร่วมเองโดยตรงจนโจทก์ร่วมต้องช่วยไกล่เกลี่ยแต่ไม่สำเร็จ และก่อนเกิดเหตุนายเบิร์ดก็มีเรื่องชกต่อยกับจำเลยที่ 1 อีก พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 กับพวกอีกหลายคนมาตามหานายเบิร์ดแต่ไม่พบ จึงพากันมาสอบถามโจทก์ร่วมและพาโจทก์ร่วมออกตามหานายเบิร์ดโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหน้าที่ขับรถตลอดเส้นทาง และเมื่อไม่พบนายเบิร์ดจำเลยที่ 1 ก็จอดรถให้พวกพาโจทก์ร่วมลงจากรถรุมยิงทำร้ายและจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปีเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลบ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 และพวกโดยการแบ่งหน้าที่กันทำแล้ว นอกจากนี้ตามพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกตระเตรียมอาวุธปืนมาเพื่อแก้แค้นทำร้ายนายเบิร์ดพวกของโจทก์ร่วม แต่เมื่อไม่พบนายเบิร์ดก็ไปสอบถามและนำโจทก์ร่วมนั่งรถกระบะให้พาไปตามหานายเบิร์ดโดยขับรถจากเขตเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีไปถึงอำเภอเคียนซา แล้วย้อนกลับมาตามถนนสายกระบี่ – ขนอม เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ครั้นไม่พบนายเบิร์ดจึงขับไปหยุดรถบนสะพานข้ามแม่น้ำตาปี หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกทั้งหมดก็ลงจากรถและพาโจทก์ร่วมไปยังท้ายรถให้จำเลยที่ 2 กับพวกอีก 2 คน ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมคนละนัดติดต่อกันรวม 3 นัด แล้วช่วยกันจับโจทก์ร่วมโยนทิ้งลงในแม่น้ำตาปี เช่นนี้ แม้ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ความว่ามีการตกลงสมคบกันวางแผนล่วงหน้าที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อน แต่การทำร้ายโจทก์ร่วมก็เห็นได้ชัดว่ามิได้เกิดจากโทสะที่พลุ่งขึ้นเฉพาะหน้าแล้วทำร้ายในทันทีทันใด แต่น่าจะเป็นการเกิดโทสะขึ้นก่อนจากการที่โจทก์ร่วมไม่บอกที่อยู่และไม่สามารถพาไปตามหานายเบิร์ดได้ จึงเกิดความคิดร่วมกันที่จะทำร้ายและฆ่าโจทก์ร่วมขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องใช้เวลาคิดไตร่ตรองและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานในการตกลงใจกระทำผิดในครั้งนี้ จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่นั้นไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่าโจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานมาสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกระทำการหนึ่งการใดอันจะถือเป็นการร่วมมือกระทำความผิด และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการวางแผนทำร้ายหรือฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อนนั้นไม่มีเหตุผลพอที่จะรับฟังเพื่อหักล้างข้อวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share