คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่า โดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกัน และมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาเกือบ 5 ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่าแต่ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลย การที่โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกัน มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระหนี้ต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจาก ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1535 บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งสินสมรส คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๑๒๕ ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมบ้านเลขที่ ๑๘๖/๙๕ ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ เลขทะเบียน บน ๔๙๔๙ อุดรธานี ครึ่งหนึ่งแก่โจทก์ หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและรถยนต์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งฝ่ายละเท่ากัน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๑๒๕ ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมบ้านเลขที่ ๑๘๖/๙๕ ตำบลนาดี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ เลขทะเบียน บน ๔๙๔๙ อุดรธานี เป็นส่วนครึ่งหนึ่งแก่โจทก์ หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินและรถยนต์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งฝ่ายละเท่ากัน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๑๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอแบ่งสินสมรสทั้งสองรายการตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า เมื่อตกลงหย่ากัน โจทก์ได้ทรัพย์สินเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นแจส ๑ คัน รถจักรยานยนต์ ๑ คัน สวนป่าไม้สักที่ตำบลหนองไฮ ๑ แปลง มินิมาร์ทพร้อมตกแต่ง เงินประกันชีวิตพร้อมดอกผล ชุดรับแขกไม้ประดู่และชุดโต๊ะรับประทานอาหารซึ่งทั้งหมดเป็นสินสมรส เจือสมกับ คำเบิกความของจำเลยประกอบกับรายการทรัพย์สิน แม้โจทก์ฎีกาว่าทรัพย์สินบางรายการไม่ใช่สินสมรสก็เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานตามที่จำเลยนำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงแบ่งสินสมรสเพราะไม่มีการบันทึกหรือข้อตกลงกันในการจดทะเบียนหย่า เห็นว่า ข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจกระทำในขณะจดทะเบียนหย่าโดยให้นายทะเบียนบันทึกไว้หรือไม่ก็ได้ทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ๆ กำหนดให้ความตกลงในการแบ่งสินสมรสต้องกระทำต่อหน้านายทะเบียนหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การจะรับฟังว่ามีข้อตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาจากพยานทั้งสองฝ่ายประกอบกับพฤติการณ์ของแต่ละคดีไป ในข้อนี้โจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้เข้าครอบครองทรัพย์อันเป็นสินสมรส โดยมีภาระผ่อนชำระค่ารถยนต์ส่วนบุคคลตลอดมา ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนกระทั่งหลังการหย่า ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายผ่อนชำระหนี้จำนองที่เกิดจากการซื้อที่ดินและบ้านพิพาทมาตั้งแต่ต้นจนถึงหลังการหย่า ส่วนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านมาในฎีกา จึงฟังได้ว่าจำเลยซื้อรถยนต์คันดังกล่าวโดยนำที่ดินและบ้านไปจำนองไว้กับธนาคารออมสินแล้วผ่อนชำระเรื่อยมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยต่างครอบครองสินสมรสแต่ละรายการต่างหากจากกันและมีภาระการผ่อนชำระหนี้ในทรัพย์สินที่ตนถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ภายหลังการหย่าจนถึงขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกือบ ๕ ปี แม้ไม่มีหลักฐานข้อตกลงการแบ่งสินสมรสในขณะจดทะเบียนหย่า แต่ตามที่จำเลยนำสืบถึงพฤติการณ์เช่นนี้ย่อมมีน้ำหนักให้ฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงแบ่งสินสมรสด้วยวาจาโดยให้สินสมรสทั้งสองรายการรวมทั้งหนี้สินตกแก่จำเลยแล้ว เมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินพร้อมบ้านกับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่จำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้แต่ฝ่ายเดียวมาโดยตลอดนับว่ามีความเหมาะสมแล้ว แม้โจทก์จะนำสืบว่ายังมีข้อตกลงว่าหากจำเลยแต่งงานใหม่ก็จะขายสินสมรสทั้งสองรายการนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง แต่โจทก์มิได้ถามค้านจำเลยให้ได้ความตามที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยแต่งงานใหม่ในต้นปี ๒๕๕๐ แล้วโจทก์ได้ทวงถามถึงข้อตกลงในการขายบ้านและที่ดิน จำเลยยินยอมแต่ไม่มีคนซื้อเนื่องจากบ้านและที่ดินติดจำนองและมีหนี้สินจำนวนมาก เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพิ่งนำคดีนี้มาฟ้องขอแบ่งสินสมรสจากจำเลยในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ หลังจากจำเลยแต่งงานใหม่เกือบ ๓ ปี ทั้งจำเลยและภริยาใหม่ยังพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวตลอดมา ที่โจทก์นำสืบมาในข้อนี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งสินสมรสระหว่างกันแล้ว แม้มีผลให้แต่ละฝ่ายได้รับทรัพย์สินและมีภาระต้องชำระหนี้สินซึ่งเป็นหนี้ร่วมมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผิดแผกแตกต่างจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓๓ และมาตรา ๑๕๓๕ บัญญัติไว้ แต่มิใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับและไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งสินสมรสทั้งสองรายการตามฟ้องจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share