คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9898-9899/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 7 ออกหนังสือถึง ส.ป.จ. ต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายจะนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งให้โรงเรียนเอง ก็หาใช่เป็นการสั่งให้เปลี่ยนแปลงสถานที่ส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนขัดต่อข้อตกลงในสัญญาซื้อขายตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ เพราะในหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 1 แจ้งด้วยว่า ขอให้ ส.ป.จ. เหล่านั้นติดตามดูแลให้ผู้ขายนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนส่งโรงเรียนตามบัญชีจัดสรรของ ส.ป.จ. นั้น ๆ ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งมอบ ณ ส.ป.จ. ต่าง ๆ ตามสัญญา แล้ว ส.ป.จ. ต่าง ๆ จะเป็นผู้ติดตามดูแลให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งยังโรงเรียนในสังกัด ส.ป.จ. นั้นแทน อันเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโจทก์

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 8
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,453,612.30 บาท จำเลยที่ 8 ร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจำนวน 1,445,001.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าปรับเป็นเงิน 1,445,001.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กรกฎาคม 2537) มิให้เกิน 8,610.60 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 8 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกทายาทเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 5 ซึ่งถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในขั้นตอนของการตรวจสอบ วางฎีกา และเสนอเรื่องให้จำเลยที่ 7 พิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ.2520 เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 แล้ว จะเห็นได้ว่าการขออนุมัติเบิกจ่ายเงินเพื่อจ่ายเป็นค่าซื้อโต๊ะเก้าอี้นักเรียนนั้นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต้องพิจารณาเอกสารที่สำคัญประกอบการเสนอให้จำเลยที่ 7 อนุมัติฎีกาอนุญาตให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 คือ สัญญาซื้อขาย ใบส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียน และเอกสารแสดงการตรวจรับโต๊ะเก้าอี้นักเรียน ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ขออนุมัติเบิกเงินค่าโต๊ะเก้าอี้นักเรียน วันที่ 23 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 5 จัดทำบันทึกข้อความ ซึ่งมีข้อความว่า บัดนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ผู้ขายได้ส่งมอบโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้เดี่ยวตามแบบกรมสามัญศึกษาตามสัญญาทั้งหมดให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจรับไว้ถูกต้อง งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2534 งวดที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 และผู้ขายได้นำหลักฐานการตอบรับจาก สปจ.ต่างๆ ว่าได้รับโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้จำนวน 5,000 ชุด ครบตามสัญญางวดที่ 1 มาขอเบิกเงิน ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าผู้ขายได้ส่งของให้ สปจ.ครบถ้วนตามบัญชีจัดสรรและอยู่ภายในกำหนดสัญญา เห็นควรเบิกจ่ายเงินงวดที่ 1 ให้ผู้ขายต่อไป โดยจำเลยที่ 6 ลงนามเสนอจำเลยที่ 7 ว่า เพื่อโปรดอนุมัติลงวันที่ 24 ธันวาคม 2534 แต่จำเลยที่ 3 ระบุข้อความว่า ตรวจเสนอลงวันที่ 20 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อกำกับในวันที่ 20 ธันวาคม 2534 เช่นเดียวกัน ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 7 จึงมีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินค่าโต๊ะเก้าอี้นักเรียนได้ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ได้มอบเอกสารที่มีข้อความว่าใบตอบรับ เป็นเอกสารประกอบที่สำคัญในการขอรับเงิน วันที่ 3 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 5 ได้มีบันทึกข้อความด่วนที่สุดขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าโต๊ะเก้าอี้นักเรียนงวดที่ 2 เสนอแก่จำเลยที่ 7 เพื่อให้เบิกจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยข้อความในบันทึกฉบับนั้นมีรายละเอียดที่สำคัญว่า ผู้ขายได้ส่งมอบโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้เดี่ยวทั้งหมดให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจรับไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว บัดนี้ผู้ขายได้นำหลักฐานตอบรับจาก สปจ. ต่างๆ จำนวน 13 จังหวัดว่าได้รับโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้เดี่ยวครบถ้วนตามสัญญา ตรวจสอบแล้วหลักฐานการตอบรับครบถ้วน เห็นควรเบิกจ่ายเงินงวดที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป โดยในเอกสารฉบับนี้มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันลงลายมือชื่อในข้อความตรวจเสนอลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 และวันที่ 5 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 7 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ได้มอบหลักฐานที่สำคัญประกอบการขอเบิกเงินคือ หลักฐานที่มีข้อความว่าใบตอบรับของ สปจ.ต่างๆ ซึ่งเอกสารเหล่านั้นตรงกับเงื่อนไขท้ายสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เสนอเรื่องไปตามลำดับเพื่อให้จ่ายเงินค่าโต๊ะเก้าอี้นักเรียนให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 เป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินไปจึงเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามระเบียบของทางราชการแล้ว ซึ่งขณะนั้นไม่มีรายงานต่อโจทก์ว่าจำเลยที่ 1ส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย หลักฐานใบตอบรับของ สปจ. ต่างๆ ก็ไม่มีข้อพิรุธ ทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า สปจ.ต่างๆ ได้รับโต๊ะเก้าอีกนักเรียนไปแล้วจริงหรือไม่อีก และที่จำเลยที่ 7 ออกหนังสือถึง สปจ.ต่างๆ ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายจะนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งให้โรงเรียนเอง ก็หาใช่เป็นการสั่งให้เปลี่ยนแปลงสถานที่ส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนขัดต่อข้อตกลงในสัญญาซื้อขายตามที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ เพราะในหนังสือดังกล่าวจำเลยที่ 7 แจ้งด้วยว่าขอให้ สปจ.เหล่านั้นติดตามดูแลให้ผู้ขายนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนส่งโรงเรียนตามบัญชีจัดสรรของ สปจ. นั้นๆ ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องนำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งมอบ ณ สปจ. ต่างๆ ตามสัญญาแล้ว สปจ.ต่างๆ จะเป็นผู้ติดตามดูแลให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำโต๊ะเก้าอี้นักเรียนไปส่งยังโรงเรียนในสังกัด สปจ. นั้นแทน อันเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของโจทก์ ดังนั้น เมื่อข้อสาระสำคัญในการตรวจสอบและเสนอขอให้อนุมัติฎีกาเบิกจ่ายเงินมีเอกสารดังกล่าวข้างต้นครบถ้วนแล้ว แม้เอกสารที่ระบุว่าเป็นใบตอบรับของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดต่างๆ จะมีการปลอมข้อความโดยเฉพาะวันที่รับโต๊ะและเก้าอี้นักเรียนทั้งสองงวด แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 รู้เห็นในการปลอมเอกสาร พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 8 นั้น ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 8 เป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขาย ไม่ปรากฏหลักฐานใดจากการนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 8 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการตรวจจ่ายเงินค่าโต๊ะเก้าอี้นักเรียนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมชำระค่าปรับในเงินจำนวน 1,445,001.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาเดิมกำหนดไว้ แน่นอนแล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนในงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์วันที่ 30 ตุลาคม 2534 และส่งมอบงวดที่ 2 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2534 โดยให้ส่งไปยังสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนั้นๆ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันตามที่ระบุไว้ในสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าไปยังสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดต่างๆ โดยภริยาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ระบุวันที่ไม่ตรงกับความจริง ทำให้โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนเกินกว่ากำหนดเวลาตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับตามที่กำหนดในสัญญา ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ผิดสัญญาและเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ และเมื่อปรากฏจากเอกสารของฝ่ายโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบโต๊ะเก้าอี้นักเรียนให้แก่โรงเรียนต่างๆ เกินกำหนด โดยบางแห่งล่าช้าเป็นปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นเงินค่าปรับจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ แต่จำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเป็นเงิน 1,445,001.70 บาท นั้น เห็นว่าสูงเกินไป เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 8 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 8 อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share