คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บุคคลนั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมายได้อีก อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ย่อมหมดสิ้นไป เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ต่อไป
แม้ต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไป จนเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นเนื่องจากการแบ่งขายที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 16975 ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร บางส่วนของจำเลยทั้งสามด้านทิศเหนือเป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร สะพานกว้าง 3 เมตร ยาว 7 เมตร เป็นทางจำเป็นของที่ดินโฉนดเลขที่ 16825 ตำบลคลองมะเดื่อ (คลองกระทุ่มแบน) อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางพิพาทเพื่อให้โจทก์ใช้เป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสามและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ อันเป็นการอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่โจทก์จะมีสิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ที่ดินของโจทก์จะต้องไม่มีทางออกถึงสาธารณะโดยทางอื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมที่จะผ่านทางในที่ดินข้างเคียงแปลงอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยทั้งสามเป็นทางจำเป็น เพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามกฎหมาย อำนาจฟ้องเอาทางจำเป็นของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมหมดสิ้นไป เพราะไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะขอให้ศาลจะพิพากษาบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ต่อไป ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าขณะฟ้องโจทก์ไม่มีทางอื่นนอกจากทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ต่อไป ส่วนที่ได้ความว่าต่อมาโจทก์ได้แบ่งขายที่ดินส่วนที่ติดทางภาระจำยอมให้แก่บุคคลอื่นไป แม้จะเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกปิดกั้นในการออกไปยังทางภาระจำยอมเพื่อออกสู่ทางสาธารณะก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ต่างจากเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องอันเป็นเรื่องนอกเหนือจากคำฟ้องโจทก์ โจทก์จะขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นเนื่องจากการแบ่งขายที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยอาศัยคำฟ้องเดิมหาได้ไม่ ส่วนโจทก์จะมีสิทธิตามกฎหมายในกรณีดังกล่าวอย่างไรก็เป็นข้อที่จะต้องว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวแม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share