คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราแล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2 จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 309, 310, 317, 83, 91, 92 และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม, 310 (ที่ถูกมาตรา 310 วรรคแรก), 309 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานพรากเด็กเป็นกรรมเดียวกับความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูกต้องระบุว่าลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด) ฐานพรากเด็กเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราโดยใช้อาวุธจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 (ที่ถูกมาตรา 310 วรรคแรก), 309 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดต่อเสรีภาพ (ที่ถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 5 ปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำชำเราโดยใช้อาวุธ จำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 รวมลงโทษจำคุก 27 ปี 6 เดือน เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 คำให้การของจำเลยที่ 2 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุก 25 ปี 6 เดือน 20 วัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ว่าข้อเท็จจริงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ขับรถจักรยานยนต์พาเด็กหญิงเอกิรา ผู้เสียหาย ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 15 ปี และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองที่เกิดเหตุเพื่อให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ แล้วจำเลยที่ 2 ก็ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายกลับมาส่งที่บ้านจะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด และจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาตาร์ ยาวประมาณ 1 ฟุต จี้ที่คอของผู้เสียหายซึ่งพาดมาถึงคอของจำเลยที่ 2 ที่กำลังนั่งซ้อนกลางและขับรถจักรยานยนต์ตามลำดับ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ อีกทั้งภยันตรายที่เกิดจากการใช้อาวุธมีดจี้คอขู่เข็ญภายหลังที่จำเลยที่ 2 พูดขอร้องให้จำเลยที่ 1 เลิกกระทำต่อผู้เสียหายเพราะเป็นคนรู้จักกันนั้น ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นภยันตรายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนด้วย ประกอบกับขณะจี้ขู่บังคับนั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธมีดจี้อยู่ที่บริเวณลำคอของผู้เสียหายซึ่งพาดยาวไปถึงลำคอของจำเลยที่ 2 ด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อาจลงมือฟันหรือแทงทำร้ายผู้เสียหายหรือจำเลยที่ 2 จนถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 67 (2) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ และปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเสียด้วย คงให้ลงโทษจำเลยที่ 2 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง เพียงบทเดียว จำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share