แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงิน 5,456,252,553.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 655,791,314.54 บาท อัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 1,758,265,880 บาท อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 483,883,483 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 960,017.23 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบสองออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1, 2, 4, 6, 7, 8, 10 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 9 และที่ 12 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 4,761,559.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเอ็ม โอ อาร์ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยโจทก์บวกร้อยละ 3.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กรกฎาคม 2545) ให้คิดแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เงิน (ประจำ) สกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาจำนวน 671,427,543.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 14,361,480 บาท นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 15,321,799.50 บาท นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 124,800,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 ของต้นเงิน 23,796,000 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 246,530,400 บาท นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2542 และของต้นเงิน 163,221,660 บาท นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามคำขอให้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศจำนวน 1,096,285,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 169,761,000 บาท นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2539 ของต้นเงิน 199,723,000 บาท นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 ของต้นเงิน 189,641,000 บาท นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 ของต้นเงิน 145,408,000 บาท นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ของต้นเงิน 224,573,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 ของต้นเงิน 93,791,000 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ของต้นเงิน 59,472,000 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2539 และของต้นเงิน 13,916,000 บาท นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 661,980,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 38,462,467 บาท นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 39,782,162 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 37,085,549 บาท นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 37,486,092 บาท นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 36,414,071 บาท นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 35,126,107 บาท นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 31,241,276 บาท นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 37,519,355 บาท นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2540 ของต้นเงิน 32,118,652 บาท นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 32,122,583 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ของต้นเงิน 50,761,572 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 35,625,482 บาท นับแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 36,698,542 บาท นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 36,815,882 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 37,122,857 บาท นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 36,728,435 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 32,321,582 บาท นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2540 และของต้นเงิน 38,548,214 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 63,025,415.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็ม แอล อาร์ตามประกาศของโจทก์บวกร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องคิดแล้วไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 483,883,483 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ของต้นเงิน 48,754,925 บาท นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 48,293,158 บาท นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 48,147,549 บาท นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2540 ของต้นเงิน 48,297,523 บาท นับแต่วันที่ 3 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 48,155,842 บาท นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 48,452,597 บาท นับแต่วันที่ 10 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 48,520,784 บาท นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 48,827,583 บาท นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2540 ของต้นเงิน 48,117,274 บาท นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 และของต้นเงิน 48,316,248 บาท นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,010,818.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 960,017.23 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดเครื่องจักรหมายเลขทะเบียน 35-326-301-0050 ถึง 35-326-301-0074 และ 24-326-301-0001 ถึง 24-326-301-0023 และ 26-326-301-0037 ถึง 26-326-301-0057 และ 40-323-301-0001 ถึง 40-323-301-0013 และ 40-323-301-0015 ถึง 40-323-301-0016 และ (รหัส 41-326-301) 0031 ถึง 0155 ที่ดินโฉนดเลขที่ 8622, 8623, 8624, 8625 และ 8626 ตำบลบางมด (ราษฎร์บูรณะ) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 119356, 119357 และ 119358 ตำบลพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 3926, 3927, 4904, 4905, 4906 และ 9250 ตำบลบางพลัด (บางพลู) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 822, 888, 891, 892, 900, 2497, 90805, 2603, 16316, 16317 และ 62600 ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 20159 ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 81987, 91988, 81989, 81990, 81992 และ 44320 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 19955, 27540, 27541 และ 27542 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5206 และ 6967 ตำบลบางปลา (บางโฉลง), บางปลา (บางลาว) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7674 และ 31931 ถึง 31942 ตำบลบางปลา (บางลาว) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 883 และ 80941 ถึง 80944 ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 21038, 2452, 3949, 3952, 3947 และ 3948 ตำบลบางหญ้าแพรก, บางหัวเสือ (บางศีรษะเสือ), บางศีรษะเสือ (บางหัวเสือ) อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 88512, 92270 และ 92282 ตำบลบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 31940 ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอพระประแดง (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ที่ดินโฉนดเลขที่ 29082, 29083, 29056 และ 29057 ตำบลคลองสอง (คลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ที่ดินโฉนดเลขที่ 2643, 2644, 3203, 3204, 3359, 3360, 3731, 7702, 7724, 7725, 7751, 7755, 7760, 7773, 9345, 9463, 15248, 16628 และ 23212 ถึง 23221 ตำบลช่องแค, พรหมนิมิต (ช่องแค) จันเสน อำเภอตาคลี, ตาคลี (พยุหะคีรี) จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดิน น.ส.3 ก เลขที่ 75, 103, 796, 916 และ 2403 ตำบลพรหมนิมิต, ช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 37741 ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 6, 49, 112, 131, 164 และ 181 ตำบลช่องแค, จันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 33077 ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อาคารโรงงานเลขที่ 292 หมู่ที่ 4 แขวงบางมด เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร บ้านตึกสามชั้น อาคารโรงงาน และบ้านตึกสองชั้น รวม 3 หลัง เลขที่ 292 และ 292/13 หมู่ที่ 4 ซอยวิเชียร ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 8622 ถึง 8626 ตำบลบางมด (ราษฎร์บูรณะ) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 120,000 บาท
จำเลยทั้งสิบสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 4,758,559.43 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสิบสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 60,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสิบสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์สำนักงานใหญ่ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน (ประจำ) สกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา คำขอให้ธนาคารออกเลตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ และสัญญาขายลดเช็ค นอกจากนี้ยังเป็นหนี้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ที่ได้โอนกิจการมาควบรวมกับโจทก์ตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาขายลดเช็ค สัญญารับมอบสินค้าเชื่อและค่าเบี้ยประกันภัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ถึงที่ 12 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักรตามฟ้องเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2543 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งสองฉบับจึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งสองฉบับดังกล่าว ตามสัญญาค้ำประกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสิบสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 นิยาม สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หมายความว่า สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ ซึ่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและหลักเกณฑ์ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ต้องถือปฏิบัติ ฉบับลงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 ข้อ 2 กำหนดว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น ได้แก่ สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน สินทรัพย์จัดชั้นสงสัย หรือสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ทั้งนี้ หมายรวมถึงสินทรัพย์รอการขายที่อยู่ในข่ายต้องจัดชั้นเนื่องจากมีมูลค่าตลาดต่ำกว่าต้นทุนที่ได้มาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าก่อนการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไม่ปรากฏว่าเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับดังกล่าว สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมิใช่สินทรัพย์ที่โอนกันได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ย่อมโอนสินทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ หาเป็นการต้องห้ามตามพระราชกำหนดดังกล่าวไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยทั้งสิบสองฎีกาว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้โดยชัดแจ้งว่ามีการโอนสิทธิเรียกร้องในคดีนี้คืนมายังโจทก์ก่อนฟ้องนั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์โอนสิทธิเรียกร้องกลับคืนให้โจทก์ มิได้ให้การว่าโจทก์ยังมิได้รับโอนสินทรัพย์คืน ฎีกาดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้นอกคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสิบสองฎีกาว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่เพราะมีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และมีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 350 และเข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 มูลหนี้เดิมระงับ เป็นผลให้สัญญาค้ำประกันกับสัญญาจำนองที่ทำก่อนสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระงับ และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามกำหนดแต่โจทก์ไม่ปล่อยกู้ให้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อ 2 ระบุว่า หลักเกณฑ์การผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ คำว่าเงื่อนไขในการชำระหนี้ดังกล่าวหาได้มีความหมายว่า ทำหนี้มีเงื่อนไขให้กลายเป็นหนี้ปราศจากเงื่อนไขก็ดี เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไปในหนี้อันปราศจากเงื่อนไขก็ดี เปลี่ยนเงื่อนไขก็ดี ซึ่งจะถือว่าเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ตามความหมายของมาตรา 349 ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการแปลงหนี้ใหม่หาได้ไม่ แต่ความหมายของหลักเกณฑ์การผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ ตามความหมายในข้อ 2 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ย่อมหมายถึงเงื่อนไขในการผ่อนปรนการชำระหนี้ที่โจทก์ให้โอกาสจำเลยทั้งสิบสองมากกว่า ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในข้อ 2.1 ข้อ 2.2 และข้ออื่น ๆ รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่แนบท้ายสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 2.2 ของสัญญานี้ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ตามสัญญานี้มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสิบสองที่เป็นลูกหนี้เท่านั้น จากข้อความในสัญญาดังกล่าวยิ่งบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของคู่กรณีว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้หรือเพิ่มเงื่อนไขเข้าในหนี้อันปราศจากเงื่อนไข ส่วนที่มีการเพิ่มหลักทรัพย์จำนองและผู้ค้ำประกันอีก ก็มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามมาตรา 350 เพราะลูกหนี้ยังเป็นจำเลยที่ 1 อยู่คงเดิม เพียงเป็นการเพิ่มหลักประกันด้วยทรัพย์และบุคคลขึ้นอีกเท่านั้น กรณีจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับตามมาตรา 350 และเมื่อพิจารณาสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และสัญญาต่อท้ายโดยละเอียดแล้ว มีเพียงฝ่ายจำเลยเท่านั้นที่เป็นลูกหนี้โจทก์ แต่โจทก์หาได้เป็นลูกหนี้ฝ่ายจำเลยไม่ สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงหาใช่สัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ไม่ เมื่อสัญญานี้ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนดังที่ได้วินิจฉัยมา โจทก์จึงมิใช่ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้โดยไม่ว่าวิธีการใดๆ เมื่อตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่มีข้อใด ๆ ระบุไว้โดยชัดเจนว่าหากโจทก์ผิดเงื่อนไขให้ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาด้วย ดังนั้น เงื่อนไขการชำระหนี้นี้จึงใช้บังคับเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เท่านั้นที่จะต้องปฏิบัติตามคือการชำระหนี้ ส่วนโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่จะพิจารณาเห็นสมควรอีกครั้งหนึ่ง หรือจะพิจารณาอนุมัติไปเป็นคราว ๆ ก็ได้ ดังนั้น เมื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้และมีหนี้สินจำนวนมาก เปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระแต่ละงวด ประกอบกับการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นโดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปแล้วหากเห็นว่าการอนุมัติให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 ต่อไปอีก อาจจะเกิดความเสียหายต่อโจทก์เพิ่มขึ้นอีกมากกว่าเดิม ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มีสิทธิที่จะไม่อนุมัติสินเชื่อหรือระงับการให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 ก็ได้ โจทก์หาใช่ฝ่ายผิดสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาไม่ ส่วนปัญหาว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปหรือไม่นั้น เนื้อหาของสัญญาและชื่อของสัญญาไม่ได้มีข้อความใด ๆ บ่งบอกว่าคู่กรณีมีเจตนาที่จะให้สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เป็นเพียงสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสัญญาข้อ 3 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ และให้โจทก์คิดยอดหนี้เต็มตามมูลหนี้ในสัญญาเดิมได้ทั้งหมด สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่า จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว สัญญาข้อ 5 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ระบุว่า จำเลยที่ 8 และที่ 11 ลงลายมือชื่อในสัญญาเพื่อรับทราบและยินยอมผูกพันในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตกลงยินยอมค้ำประกันและยินยอมให้หลักทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเดิมทั้งหมดยังเป็นประกันหนี้ของลูกหนี้และของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองต่อไปจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น ส่วนข้อตกลงอื่นคงให้เป็นไปตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนองและหนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองฉบับเดิมทุกประการ และให้ถือว่าสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเดิมด้วย และตามข้อ 5 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งระบุเงื่อนไขไว้เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 12 ลงลายมือชื่อในฐานะเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 8 และที่ 11 ดังนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงลงลายมือชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหนี้เดิม มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังกล่าวดังเช่นจำเลยอื่นที่ทำสัญญาค้ำประกันใหม่ เช่นนี้ จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มิใช่การแปลงหนี้ใหม่ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 จึงยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ซึ่งทางพิจารณาโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 8 และที่ 11 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ประจำสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกา 2 สัญญา ตามสัญญาค้ำประกัน ยอมรับผิดในวงเงินคนละ 25 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ทำสัญญาค้ำประกันวงเงินเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท ตามสัญญาค้ำประกัน ยอมรับผิดในวงเงินคนละ 1,450,000,000 บาท ทำสัญญาค้ำประกันวงเงินขายลดเช็ค ตามสัญญาค้ำประกัน ยอมรับผิดในวงเงินคนละ 740,000,000 บาท และจำเลยที่ 12 ทำสัญญารับรองความเสียหายในการขายลดเช็ค ยอมรับผิดในวงเงิน 160,000,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ตามสัญญาค้ำประกัน แต่ทางพิจารณาโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ทำสัญญาค้ำประกันกู้เบิกเงินเกินบัญชี และทำสัญญาค้ำประกันหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 8 และที่ 11 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญาขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 12 ทำสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เงิน (ประจำ) สกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา สัญญาค้ำประกันคำขอให้ออกเล็ตเตอร์ออฟเครดิตภายในประเทศ และสัญญาค้ำประกันขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์สำนักงานใหญ่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นอย่างลูกหนี้ร่วมทุกสัญญา โดยที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษายืนให้จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ร่วมรับผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 4,758,559.43 บาท ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงิน 63,025,415.41 บาท จำเลยที่ 8 และที่ 11 ไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค 483,883,483 บาท จำเลยที่ 12 ไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค 661,980,880 บาท แต่ให้ร่วมรับผิดตามสัญญาขายลดเช็ค 483,883,483 บาท ทั้งนี้ ให้ร่วมรับผิดไม่เกิน 160,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ