คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5898/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัตินั้นต้องเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นหรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้และเจ้าพนักงานไม่สามารถค้นพบหรือยึดได้หากไม่ได้รับข้อมูลจากผู้กระทำความผิด แม้หลังจากถูกจับกุมจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจค้นเฮโรอีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่บริเวณกอกล้วยหลังบ้านจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจยึดเฮโรอีนของกลางได้ จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3), 66 วรรคสาม, 102 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 7 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เฉพาะจำเลยที่ 2 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกคนละ 3 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 200,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 28 ปี 6 เดือน และปรับ 1,200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทความผิดจำเลยที่ 2 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ด้วย ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 35 ปี และปรับ 900,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 38 ปี 6 เดือน และปรับ 1,100,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 19 ปี 3 เดือน และปรับ 550,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโจทก์ไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทความผิดของจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 ไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเฮโรอีนทำให้พยานโจทก์ไม่อาจค้นพบได้เองก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ต้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอย่างแน่นอนอยู่แล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้” ซึ่งข้อมูลที่ผู้กระทำความผิดให้ต่อเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น ต้องเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่นหรือนำไปสู่การยึดได้ยาเสพติดให้โทษจำนวนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลางในคดีนี้และเจ้าพนักงานไม่สามารถค้นพบหรือยึดได้ หากไม่ได้รับข้อมูลจากผู้กระทำความผิด แม้หลังจากถูกจับกุมจำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจค้นพบเฮโรอีนของกลางที่ซุกซ่อนอยู่บริเวณกอกล้วยหลังบ้านจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไปตรวจยึดเฮโรอีนของกลางได้ จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ปรับบทความผิดจำเลยที่ 2 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว เป็นจำคุก 20 ปี 12 เดือน และปรับ 650,000 บาท หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share