คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามมีอาวุธปืนติดตัว ขึ้นไปบนสถานีตำรวจ จำเลยที่ 1 ขอให้ผู้เสียหายไปตรวจค้นบ้านบุคคลอื่น แต่ผู้เสียหายไม่ยอมทำตาม จำเลยที่ 1 จึงใช้อาวุธปืนจี้บังคับไม่ยอมให้ผู้เสียหายออกจากห้องแล้วใช้มือล็อกคอและกอดปล้ำบังคับผู้เสียหายให้นั่งบนโซฟา โดยจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนและจำเลยที่ 3 ยืนจับด้ามปืนสั้นที่เอว แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ชักปืนออกมาก็ตามแต่การกระทำของจำเลยที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้เตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธปืนบังคับผู้เสียหายด้วยจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 310,321, 358, 361, 371, 376, 32, 33, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 3, 6, 7 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22,23 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 64 และคืนอาวุธปืนลูกซองยาวหมายเลขทะเบียน กท.2850932 และหมายเลขทะเบียน กท.2753163ให้แก่จำเลยที่ 1 ของกลางอื่นให้ริบ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิชอบ ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยมิชอบ ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยมิชอบ ฐานให้คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยมิชอบเข้าพักอาศัยซ่อนเร้นในบ้านเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ส่วนข้อหาความผิดฐานอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ขอถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคแรกและวรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310วรรคแรก ข้อหาพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนัก เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยที่ 2 อายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ฐานมีอาวุธปืน ฯ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 คนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ฯ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 2จำคุก 6 เดือน ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1ที่ 3 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ให้จำคุก 6 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคม ให้จำคุก 6 เดือน และฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัยให้จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืน ฐานมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ฐานตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคมและฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1ฐานมีอาวุธปืน 6 เดือน ฐานมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคม 3 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคม 3 เดือน และฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัย3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 15 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 18 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 3 ปี คืนอาวุธปืนลูกซองยาวหมายเลขทะเบียน กท.2850932 กับหมายเลขทะเบียน กท.2753163ให้แก่จำเลยที่ 1 ของกลางอื่นให้ริบ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยมิชอบ ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4,000 บาทปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 500 บาท ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000บาท อีกสถานหนึ่งความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยมิชอบให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 คนละ 2,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน1,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000บาท ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 2,500 บาท อีกสถานหนึ่ง ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคมและฐานตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคมโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม 2498 มาตรา 6, 23 ให้ปรับจำเลยที่ 1 ฐานละ 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ความผิดฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัยเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืน ฯฐานมีเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ฐานตั้งสถานีวิทยุโทรคมนาคมและฐานให้คนต่างด้าวพักอาศัย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 แล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 รวม 17,000 บาท จำเลยที่ 2 รวมปรับ4,000 บาท จำเลยที่ 3 รวมปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังจ่าสิบตำรวจชูชาติผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายดาบตำรวจเมฆเจตะวัน และพันตำรวจโทบรรฑป สุคนธมาน เบิกความยืนยันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมีอาวุธปืนติดตัวขึ้นไปบนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สาย จำเลยที่ 1 ขอให้ผู้เสียหายไปตรวจค้นบ้านบุคคลอื่นแต่ผู้เสียหายไม่ยอมทำตามที่ขอ จำเลยที่ 1 ซึ่งเมาสุราแสดงอาการโกรธได้ข่มขู่ใช้อาวุธปืนจี้บังคับไม่ยอมให้ผู้เสียหายออกจากห้องไป จำเลยที่ 1 ได้ใช้มือล็อกคอและกอดปล้ำบังคับผู้เสียหายให้นั่งบนโซฟา โดยจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนสั้นขนาด .357 และจำเลยที่ 3 ยืนจับด้ามปืนสั้นออโตเมติก .45 ที่เอว แม้จำเลยที่ 3จะไม่ได้ชักปืนออกมาก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้เตรียมพร้อมที่จะใช้อาวุธปืนบังคับผู้เสียหายด้วยจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share