คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15978/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่าวันที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 2 เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมูลหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนว่ามิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดเหตุในคดีนี้ ทั้งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้พบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค โจทก์ทั้งสองจึงทราบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดต่อจำเลยทั้งสามได้นับแต่วันดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับจำเลยที่ 3 มิได้ เหตุเกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีวันที่ 12 มีนาคม 2546 คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนี้ แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ปัญหาข้อที่ว่าจะใช้บทบัญญัติอายุความละเมิดหรืออายุความประกันวินาศภัยมาใช้บังคับนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 680,222 บาท และให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อหมายเลขทะเบียน 83 – 6274 นครราชสีมา โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับรถบรรทุกหกล้อคันดังกล่าวขณะเกิดเหตุและได้รับบาดเจ็บ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 84 – 9176 นครปฐม จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อคันที่จำเลยที่ 1 ขับ และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวไปประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 เวลา 3 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ขับรถบรรทุกหกล้อของโจทก์ที่ 1 บรรทุกไม้แปรรูปมาตามถนนพหลโยธินจากจังหวัดสระบุรีมุ่งหน้ากรุงเทพมหานครในช่องเดินรถขวาสุด เมื่อมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 92 ถึง 93 ตำบลห้วยขมิ้น อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 2 มาในทิศทางเดียวกันในช่องเดินรถที่ 2 จำเลยที่ 1 เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 2 เป็นเหตุให้รถบรรทุกทั้งสองคันชนกัน ทำให้รถบรรทุกหกล้อที่โจทก์ที่ 2 ขับเสียหลักชนราวเหล็กกั้นขอบทางด้านขวาพลิกคว่ำตกลงในร่องน้ำ รถบรรทุกหกล้อและไม้แปรรูปได้รับความเสียหาย และโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ในการวินิจฉัยว่า คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่า วันที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 2 เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมูลหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ฟ้องของโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสองและร้อยตำรวจเอกวัชระพยานจำเลยต่างเบิกความเจือสมกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนว่ามิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า โจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดเหตุในคดีนี้ ทั้งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้พบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค โจทก์ทั้งสองจึงทราบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดต่อจำเลยทั้งสามได้นับแต่วันดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 จึงพ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาคดีส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 84 – 9176 นครปฐม ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 3 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด 1 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความในมูลละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับจำเลยที่ 3 มิได้ เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 295 บัญญัติให้ กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนี้ แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและปัญหาข้อที่ว่าจะใช้บทบัญญัติอายุความละเมิดหรืออายุความประกันวินาศภัยมาใช้บังคับนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้
สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น เห็นว่า หากโจทก์ที่ 2 ขับรถมาชนท้ายรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ กันชนท้ายของรถบรรทุกคันที่จำเลยที่ 1 ขับ น่าจะได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ตามภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏความเสียหายเพียงเล็กน้อย ดังนี้ คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเบียดเข้ามาในช่องเดินรถของตนจึงสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถบรรทุกทั้งสองคัน พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยทั้งสาม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกเปลี่ยนช่องเดินรถไปด้านซ้ายโดยไม่ดูให้ดีเสียก่อนว่า มีรถที่โจทก์ที่ 2 ขับแล่นอยู่ในช่องเดินรถเป็นเหตุให้รถเฉี่ยวชนกันอันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปส่งนมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง และจำเลยที่ 3 ในฐานะรับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสอง
สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงพยานบุคคลประกอบกับภาพถ่ายและพยานเอกสารแล้ว สภาพความเสียหายของรถบรรทุกไม่จำต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทั้งหมด และการซ่อมแซมคงใช้เวลานานไม่เกิน 4 เดือน ทั้งไม้แปรรูปที่ได้รับความเสียหายก็เป็นเพียงการกะประมาณราคาเท่านั้น จึงเห็นควรกำหนดความเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นค่าซ่อมรถ 250,000 บาท ค่าไม้แปรรูป 30,000 บาท กับค่าเช่ารถบรรทุก 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 320,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 คงมีแต่คำเบิกความยืนยันว่าได้รับบาดเจ็บและต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและสูญเสียรายได้จากการขับรถ แต่ก็ตอบคำถามค้านว่า ต้องรักษาตัวนานประมาณ 1 เดือน แล้วกลับมาขับรถอีกประมาณ 2 เดือน ก็ลาออกเนื่องจากต้องการพักผ่อน ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดความเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นค่ารักษาพยาบาล 6,000 บาท กับค่าขาดรายได้ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 11,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 320,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share