คำวินิจฉัยที่ 115/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

การคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการดำเนินการให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงพิพาท เป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแล รักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ เป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
สำหรับคำฟ้องในส่วนของเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่าเนื่องจากมีการคัดค้านจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะว่าที่ดินดังกล่าวสงสัยว่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีอำนาจสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่ากัน จึงเป็นคดีสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๕/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดบึงกาฬ

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ นางอุไร สิมมาลา ที่ ๑ กับพวกรวม ๙ คน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลวิศิษฐ์ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุดรธานี คดีหมายเลขดำที่ ๑๘๖/๒๕๕๘ ต่อมา นายกิตติชัย สาระขันธ์ ยื่นคำร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความ ศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งอนุญาตโดยกำหนดให้นายกิตติชัยเป็นผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสิบฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ ๑๑ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ต่อเนื่องมากว่าสี่สิบปีและได้เสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้นำเจ้าหน้าที่เดินสำรวจที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๑ ในฐานะผู้แทนนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่ได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับรองโดยอ้างว่าที่ดินตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบนำสำรวจนั้นเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบึงกาฬ กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ นายอำเภอเมืองบึงกาฬได้มีคำสั่งอำเภอเมืองบึงกาฬ ที่ ๑๒๑/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์บ้านดอนเจริญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนายช่างรังวัดที่ดินจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬร่วมตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏในระวางแผนที่ว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์และเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ชาวบ้านลงประชามติ ซึ่งชาวบ้านได้ลงประชามติว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ยอมลงนามรับรองที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์บ้านดอนเจริญ ได้มีคำสั่งที่ ๑๓๙/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ แต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนหาข้อเท็จจริงการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์บ้านดอนเจริญ เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์บ้านดอนเจริญโดยทำการสอบถามชาวบ้านอีกครั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับรองที่ดินบางแปลงที่อยู่ติดกับผู้ฟ้องคดีทั้งสิบแต่กลับคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและดำเนินการเพื่อให้ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามในเอกสารรับรองการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกการดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูและรักษาและคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ เนื่องจากสงสัยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ จากการตรวจสอบประชาชนส่วนใหญ่ต่างยืนยันว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกันมาก่อน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้คัดค้านการออกเอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบตามที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การขอออกโฉนดที่ดินในคดีนี้เป็นการนำเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘, ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ กรมที่ดินอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๗ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดหนองคาย-บึงกาฬ-เลย ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๔๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินในโฉนดที่ดิน ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบมิได้มีมูลเหตุเกิดจากการยื่นขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยตรง แต่เป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการออกเอกสารสิทธิไว้ก่อนจนกว่าจะพิสูจน์ทราบว่าไม่เป็นที่สาธารณะ จึงไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เนื่องจากเป็นกรณีที่การเดินสำรวจมีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิโดยการคัดค้านจากหน่วยงานผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะ ซึ่งมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ได้ให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในการสอบสวนเปรียบเทียบ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ได้นำเจ้าหน้าที่ที่ดินเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเจริญ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบนำทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินสงสัยว่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามรับรองในเอกสารการรังวัด กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบตามคำขอท้ายคำฟ้องข้อ ๓ ที่ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกการดำเนินการนำที่ดินพิพาทขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบมีสิทธิในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่ดินที่พิพาทผู้ฟ้องคดีทั้งสิบมีสิทธิครอบครองโดยชอบหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่เป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีซึ่งมิได้มีผลทำให้คดีที่เป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งแต่อย่างใด และแม้การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่พิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก โดยคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดบึงกาฬพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการที่ไม่รับรองแนวเขตและไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสิบอ้างว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการเลือกปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ หรือยกเลิกการดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นสาธารณประโยชน์ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โต้แย้งเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีตำบลวิศิษฐ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมา ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้นำเจ้าหน้าที่เดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๕๘ และมาตรา ๕๘ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์และดำเนินการให้มีการขึ้นทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยกเลิกการคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ และยกเลิกการดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ เห็นว่า การคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการดำเนินการให้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินแปลงพิพาท เป็นการดำเนินการในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแล รักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบ จึงเป็นกรณีที่มีการโต้แย้งสิทธิกันระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะผู้ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน สำหรับคำฟ้องในส่วนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่าการที่ไม่อาจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้ เนื่องจากมีการคัดค้านจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าที่ดินดังกล่าวสงสัยว่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินกันระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสิบและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีอำนาจสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องไปใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่ากัน จึงเป็นคดีสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางอุไร สิมมาลา ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐ คน ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีตำบลวิศิษฐ์ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบึงกาฬ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share