คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 644,867.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 260,987.20 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถตักหน้า – ขุดหลัง ยี่ห้อแคทเทอร์พิลลาร์ รุ่น 424 ดี หมายเลขเครื่องยนต์ ซีอาร์ เอส 15971 หมายเลขตัวรถ ซีเอที 0424 ดีซีอาร์เอ็กซ์เอ 01147 ในราคา 2,370,919.76 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 315,420.56 บาท ส่วนที่เหลือ 2,055,499.20 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระ 36 งวด งวดละ 57,097.20 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 3 งวด คือ งวดที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รวมเป็นเงิน 171,291.60 บาท หลังจากนั้นไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้ออีก โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในวันที่ 15 กันยายน 2548 หากไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จ้างนายชุบติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โจทก์ชำระค่าจ้างแก่นายชุบ 90,000 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 90,000 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระแทนไปเป็นเงิน 15,987.20 บาท โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายสองจำนวนนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายทั้งสองจำนวนนี้จึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 60,000 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดในค่าขาดราคาเพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ตามเอกสารไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาและยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้นสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่นายชุบ ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดราคาให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 60,987.20 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่ชำระเกินมาแก่จำเลยทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share