แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบและรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ แม้โจทก์จะส่งสัญญาจ้างซึ่งเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีประกอบคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์โดยไม่ยื่นต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน เพิ่งส่งประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลของโจทก์ในวันสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 9 ก็มีอำนาจสั่งรับสัญญาจ้างไว้ และรับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
โจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ โจทก์มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้ว การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาดไปเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยด้วยจึงมิได้เป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ แม้ในขณะที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาด จำเลยจะลาออกจากงานแล้ว แต่ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่จำเลยยังมิได้ลาออกจากงาน การที่จำเลยลาออกจากงานและมิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วจึงไม่ทำให้ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้ของจำเลยที่ยังขาดจำนวนอยู่ระงับไปด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปจากจำเลยได้
ป.รัษฎากร มาตรา 63 ไม่ประสงค์จะให้ผู้มีเงินได้พิพาทหรือโต้แย้งกับผู้จ่ายเงินได้ที่หักภาษีเงินได้ไว้และนำส่งแล้วอันอาจเกิดอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีเงินได้ แม้โจทก์จะตรวจสอบพบในภายหลังว่า โจทก์มิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือหักไว้ไม่ครบถ้วนตามวิธีที่ ป.รัษฎากรกำหนด และโจทก์ทดรองเงินของตนนำส่งให้กรมสรรพากรแทนจำเลยไป หากจำเลยเห็นว่าจำนวนเงินที่นำส่งเกินกว่าจำนวนภาษีเงินได้ที่จำเลยควรต้องเสีย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอคืนจากกรมสรรพากรตามมาตรา 63 เช่นกัน จะอ้างว่าโจทก์มิได้หักไว้ก่อนและโจทก์จ่ายเกินจำนวนไปเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนไปไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545 ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 150,000 บาท กับค่าที่พักและค่าพาหนะเป็นรายได้ประจำอีกเดือนละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 190,000 บาท โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นภายหลังในวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 มีข้อตกลงว่าจำเลยยินยอมทำงานตามสัญญาว่าจ้างโดยจะรับผิดชอบสำหรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยตนเอง และจำเลยลาออกจากงานในวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 จำเลยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยโจทก์มีหน้าที่หักและนำส่งกรมสรรพากร แต่บางเดือนโจทก์มิได้หักและนำส่งให้กรมสรรพากร บางเดือนโจทก์หักและนำส่งภาษีเงินได้ของจำเลยให้กรมสรรพากรแต่ไม่ครบจำนวนเนื่องจากจำเลยเป็นกรรมการของโจทก์และมีหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ จำเลยรู้หรือควรจะรู้ว่าจะต้องหักเงินได้และนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร แต่จำเลยฝ่าฝืนสัญญาจ้าง โดยบางเดือนจำเลยมิได้ชำระภาษีแต่มีรายการทางบัญชีระบุชัดว่าได้มีการนำเอาเงินของโจทก์ไปชำระภาษีเงินได้ให้ บางเดือนมีรายการว่าได้หักเงินได้ของจำเลยชำระภาษีเงินได้ แต่ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องหัก และบางเดือนไม่ปรากฏการหักเงินได้ของจำเลยชำระภาษีให้กรมสรรพากร ระหว่างเวลาที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงิน 1,109,868.25 บาท แต่โจทก์หักภาษีเงินได้จากจำเลยนำส่งกรมสรรพากรเพียง 195,389.84 บาท จำเลยคงค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 914,478.41 บาท ต่อมาโจทก์ชำระภาษีเงินได้แทนจำเลยพร้อมทั้งค่าปรับครบถ้วน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,334.85 บาท รวมเป็นเงิน 924,813.26 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 924,813.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 914,478.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างแรงงานตามฟ้องกรรมการของโจทก์กระทำไปในฐานะส่วนตัว ไม่ผูกพันโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญา จำเลยไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์เดือนละ 190,000 บาท แต่ได้รับเงินเดือนละ 150,000 บาท ส่วนเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นค่าสวัสดิการ เป็นค่าที่พักและค่าพาหนะ มิใช่เงินรายได้นำมาหักเพื่อคำนวณเสียภาษีบุคคลธรรมดา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่สภาพเดิม โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องหักเงินค่าภาษีให้สรรพากรแทนจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 924,813.26 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 914,478.41 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 23 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2545 ได้รับตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจ ได้รับเงินเดือนครั้งแรก 150,000 บาท และทำสัญญาจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 จำเลยลาออกจากงาน ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2547 โจทก์ได้ชำระภาษีแทนจำเลยไปเป็นเงิน 914,474.41 บาท (ที่ถูก 914,478.41 บาท) สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.2 มีกรรมการโจทก์สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ เป็นการกระทำกิจการแทนโจทก์ จึงผูกพันโจทก์และจำเลย จำเลยได้รับค่าพาหนะและค่าที่พักเดือนละ 40,000 บาท ทุกเดือน เงินค่าพาหนะและค่าที่พักจึงเป็นรายได้ของจำเลยที่จะต้องนำมารวมกับเงินเดือน ๆ ละ 150,000 บาท รวมรายได้ของจำเลยเดือนละ 190,000 บาท ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้องเนื่องจากหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้องและไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรเพื่อชำระให้กรมสรรพากร เมื่อโจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของจำเลยให้กรมสรรพากรไปซึ่งตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 ข้อ 6 ระบุว่า จำเลยจะรับผิดชอบสำหรับเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อนายจ้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว นายจ้างสามารถฟ้องไล่เบี้ยเอาจากลูกจ้างได้ ดังนั้น จำเลยต้องชำระเงินจำนวน 914,478.11 บาท (ที่ถูก 914,478.41 บาท) ที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนจำเลยให้กรมสรรพากรให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 914,478.11 บาท (ที่ถูก 914,478.41 บาท) นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2547 ซึ่งโจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนจำเลยครบถ้วนให้แก่กรมสรรพากร คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,334.85 บาท ตามฟ้องโจทก์ ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า สำเนาสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ มิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ ทั้งสำเนาสัญญาจ้างเอกสารท้ายคำฟ้องก็มิได้มีรอยตราสำคัญของโจทก์ประทับเช่นกัน ส่วนคำแปลเป็นภาษาไทยเอกสารหมาย จ.3 ก็ไม่มีผู้รับรองความถูกต้อง ทั้งไม่ปรากฏชื่อกรรมการของโจทก์และมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 จึงมิได้ถ่ายสำเนาจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 โจทก์เพิ่งส่งเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งเป็นเอกสารต้นฉบับในวันนัดพิจารณาและเป็นสัญญาคนละฉบับกันกับฉบับที่ส่งสำเนาท้ายฟ้อง จึงเป็นเอกสารที่มิได้ยื่นต่อศาลและส่งสำเนาให้แก่จำเลยก่อนสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 ผูกพันโจทก์และจำเลยจึงไม่ถูกต้องนั้น พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะที่จะเรียกพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบและมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานใด ๆ ที่เห็นว่าจะทำให้ได้ความชัดแจ้งในข้อเท็จจริงแห่งคดี และการให้ได้ความชัดแจ้งดังกล่าวนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความ แม้โจทก์จะส่งสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญแห่งคดีประกอบคำเบิกความพยานบุคคลของโจทก์โดยไม่ยื่นต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันสืบพยาน เพิ่งส่งประกอบคำเบิกความของพยานบุคคลของโจทก์ในวันสืบพยาน ศาลแรงงานภาค 9 ก็มีอำนาจสั่งรับสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 ไว้ และรับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.17 มีกรรมการโจทก์สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์เป็นการกระทำกิจการแทนโจทก์ จึงผูกพันโจทก์และจำเลยนั้น หาใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนกฎหมายไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องชำระเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่โจทก์ชำระให้แก่กรมสรรพากรแทนจำเลยไปดังที่ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยลาออกจากการเป็นกรรมการโจทก์แล้ว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลง การที่โจทก์นำเงินทดรองชำระภาษีเงินได้แทนจำเลยจึงเป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ การหักภาษีเงินได้เพื่อนำส่งให้แก่กรมสรรพากรจะต้องหักจากจำเลยในขณะที่จำเลยได้รับเงินเดือน หรือได้รับเงินได้เท่านั้น นอกจากนี้เงินค่าพาหนะและค่าที่พักเดือนละ 40,000 บาท ก็เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้ การที่โจทก์นำค่าพาหนะและค่าที่พักเดือนละ 40,000 บาท ไปรวมกับเงินเดือนเดือนละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 190,000 บาท แล้วคำนวณชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนจำเลยไม่ถูกต้อง เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายภาษีเงินได้พึงประเมินตามวิธีการดังที่บัญญัติไว้ และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถูกผู้จ่ายเงินได้มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี…” เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตรวจสอบพบว่าโจทก์มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วเช่นนี้ การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาดไปเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยด้วยจึงมิได้เป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจแม้ในขณะที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้ส่วนที่ขาด จำเลยจะลาออกจากงานแล้ว แต่ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่จำเลยยังมิได้ลาออกจากงาน การที่จำเลยลาออกจากงานและมิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์แล้วจึงหาทำให้ความรับผิดในการเสียภาษีเงินได้ของจำเลยที่ยังขาดจำนวนอยู่ระงับไปด้วยไม่ เมื่อโจทก์จ่ายค่าภาษีเงินได้ส่วนที่มิได้หักไว้และนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้องแทนจำเลยไปเพื่อปลดเปลื้องความรับผิดของโจทก์ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยด้วยเช่นนี้แล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าภาษีเงินได้ที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ค่าที่พักและค่าพาหนะเดือนละ 40,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ จึงทำให้ภาษีเงินได้ที่นำส่งแล้วเกินจำนวนที่จะต้องเสีย โจทก์จึงเรียกเอาจากจำเลยไม่ได้นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลใดถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป กฎหมายประสงค์จะให้เป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ดำเนินการขอคืนเอง ไม่ประสงค์จะให้ผู้มีเงินได้ไปพิพาทหรือโต้แย้งกับผู้จ่ายเงินได้ที่หักภาษีเงินได้ไว้และนำส่งแล้วอันอาจเกิดอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีเงินได้ คดีนี้แม้โจทก์จะตรวจสอบพบในภายหลังว่าโจทก์มิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้หรือหักไว้ไม่ครบถ้วนตามวิธีที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และโจทก์ทดรองเงินของตนนำส่งให้กรมสรรพากรแทนจำเลยไป หากจำเลยเห็นว่าจำนวนเงินที่นำส่งเกินกว่าจำนวนภาษีเงินได้ที่จำเลยควรต้องเสีย จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการขอคืนจากกรมสรรพากรดังที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 63 บัญญัติไว้เช่นกัน จะอ้างว่าโจทก์มิได้หักไว้ก่อนและโจทก์จ่ายเกินจำนวนไปเอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนไปไม่ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีเงินได้ที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนจำเลยไปให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยด้วยนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน