แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายมาเป็นของกลางได้ ประกอบกับการที่จำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจึงต้องสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า อาวุธปืนสั้นที่ใช้ยิงผู้ตายนั้นเป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จึงลงโทษจำเลยได้เพียงในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้กับพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 371, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางจำเนียร ไหมเกตุ และนายโรจน์ พูลสวัสดิ์ บุตรสาวและบุตรเขยของผู้ตายเบิกความสอดคล้องกันได้ความว่า ขณะเกิดเหตุพยานทั้งสองอยู่ในบ้าน ผู้ตายวิ่งเข้ามาในบ้านร้องว่า “เค้ายิงแม่แล้วลูก” พยานทั้งสองไม่เห็นรูปร่างคนร้าย ไม่สามารถจำหน้าตาคนร้ายได้ และหลังจากคนร้ายวิ่งหนีออกไปแล้ว ขณะนำผู้ตายส่งโรงพยาบาล ผู้ตายพูดว่า “มันยิงพ่อแล้ว ยังยิงแม่อีก” เห็นว่า ข้อความที่ผู้ตายพูดดังกล่าว บ่งชี้ผู้ตายรู้ว่าคนร้ายเป็นใคร เพียงแต่ไม่ได้ระบุชื่อออกมาเท่านั้น ซึ่งข้อความดังกล่าวหมายถึงจำเลย เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องข้อหาฆ่าสามีผู้ตายในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2544 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทสัญญา เย็นใส พนักงานสอบสวนร่วมเบิกความว่าพยานเป็นผู้สอบสวนผู้ตายในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุที่โรงพยาบาลชุมพร ขณะนั้นผู้ตายอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก แต่ยังพูดได้ ผู้ตายให้การว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายเห็นจำเลยเป็นคนร้ายเดินมาอยู่ห่างผู้ตาย 1 เมตรเศษ แล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด เมื่อผู้ตายวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน จำเลยวิ่งตามมายิงผู้ตายอีก 2 นัด แล้วหลบหนีไป ตามบันทึกคำให้การของผู้ตายเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุจะมากลั่นแกล้งจำเลย เชื่อว่าเบิกความและจัดทำเอกสารดังกล่าวตรงตามความเป็นจริง ตามเอกสารดังกล่าวตอนท้ายระบุว่า ผู้ตายให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในขณะที่รู้ตัวว่าจะไปไม่รอดเพราะเจ็บปวดมากและคิดว่าคงจะตาย ซึ่งผู้ตายได้ให้การในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุขณะอยูในห้องผู้ป่วยหนักและต่อมาอีก 3 วัน คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 ผู้ตายก็ถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ตายให้การต่อพนักงานสอบสวนในขณะรู้ตัวว่าใกล้จะตายจริง คำกล่าวของผู้ตายจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ตามคำให้การของผู้ตายในชั้นสอบสวนดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของนางจำเนียรกับนายโรจน์ และตามพฤติการณ์แห่งคดีขณะเกิดเหตุจำเลยมายืนยิงผู้ตายในระยะใกล้ชิดห่างเพียง 1 เมตรเศษ แม้ขณะเกิดเหตุจะไม่มีไฟฟ้าแต่ก็มีแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมันก๊าดและดวงจันทร์พอมองได้สลัวๆ ทั้งจำเลยเป็นหลานถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดผู้ตาย เชื่อว่า ผู้ตายเห็นและจำจำเลยได้ไม่ผิดตัว ส่วนสาเหตุที่จำเลยต้องการฆ่าผู้ตายก็เนื่องมาจากเมื่อปี 2534 จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายหิน ไหมเกตุ สามีผู้ตายเรื่องที่ดินทำประโยชน์ และจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงนายหินถึงแก่ความตายแล้วหลบหนีไป ในขณะเกิดเหตุมีผู้ตายเป็นประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ และได้ร้องทุกข์เป็นผู้กล่าวหาจำเลยว่าฆ่านายหินสามีผู้ตาย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริงและตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนขนาด .38 หลายนัดใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองและพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ หมู่ที่ 9 ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันควรนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้สามารถตรวจยึดอาวุธปืนที่ใช้ยิงผู้ตายมาเป็นของกลาง และทางนำสืบของโจทก์คงได้ความจากพันตำรวจตรีจรูญ หนูจันทร์ พนักงานสอบสวนเพียงว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามหนังสือของปลัดอำเภอเมืองนราธิวาสเอกสารหมาย จ.9 จึงต้องสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนสั้นที่ใช้ยิงผู้ตายนั้นเป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จึงลงโทษจำเลยได้เพียงในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้กับพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ข้อหาพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเกิดวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6)”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหามีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จำคุก 6 เดือน ข้อหาพกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ จำคุก 6 เดือน ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิตจำเลย เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2544 ของศาลชั้นต้นนั้นให้ยกคำขอ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8