คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปดำเนินการขอรับสิทธิแล้ว แต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทชัมย์ประกันภัย จำกัด (ที่ถูกน่าจะเป็นบริษัทชับบ์ประกันภัย จำกัด) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2536 และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 ขณะอายุ 60 ปี โจทก์ส่งเงินสมทบกรณีชราภาพมาแล้ว 38 เดือน ต่อมาวันที่ 12 พฤษภาคม 2546 โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีคำสั่งประโยชน์ทดแทนว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดเนื่องจากยื่นคำขอรับประโยชน์เกิน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 42/2547 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2547 และให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด และโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ คำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายถูกต้องเป็นธรรมแก่โจทก์ทุกประการแล้ว ไม่มีเหตุต้องยกเลิกเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 42/2547 ตามฟ้อง กับให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 84 ทวิ ได้กำหนดทางแก้หากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ได้เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธินั้น เห็นว่า มาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนซึ่งทราบถึงสิทธิและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ไปดำเนินการขอรับสิทธิแล้ว แต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถไปดำเนินการขอรับสิทธิตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไปเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ถูกตัดสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share