คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินทั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 92 ตารางวา ของจำเลยและผู้ร้องเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับจำเลยได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนโดยชัดแจ้ง โดยผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์จำนวน 1,600 ส่วน เป็นเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ผู้ร้องไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในหนี้ของจำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดเฉพาะส่วนของผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับเลยยังมิได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้กันส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เฉพาะส่วนของผู้ร้องภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่วิวาท ออกจากการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์นำยึด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขทื่ 21777 ตำบลท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 92 ตารางวา มีชื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ระบุส่วนของผู้ร้อง 1,600 ส่วน ใน 4,692 ส่วน ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมายเลข ร.1 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยซึ่งเป็นบิดาเนื่องจากจำเลยยกให้เมื่อปี 2538 โดยจำเลยยกที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกให้ผู้ร้องประมาณ 4 ไร่ ขณะยกให้ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นที่นา ที่ดินส่วนที่จำเลยยกให้คือส่วนที่อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวในแผนที่วิวาท ต่อมาผู้ร้องกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ในการถมที่ดินส่วนที่จำเลยยกให้โดยจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน ผู้ร้องได้ถมที่ดินในส่วนดังกล่าว สูงกว่าระดับเดิมประมาณ 1 ศอก เพื่อปลูกพืชล้มลุก และเว้นที่ไม่ประมาณ 3 งาน เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา แต่ผู้ร้องไม่สามารถขุดบ่อได้เนื่องจากที่ดินส่วนนี้เป็นที่สำหรับทำนาปรังและถูกน้ำท่วม ผู้ร้องปลูกมะนาวในที่ดินส่วนที่ถมแล้ว 3 ปี หลังจากนั้นจึงให้นายประทีป ผุดแย้มเช่าที่ดินส่วนนี้เนื่องจากมะนาวที่ปลูกไว้ตายหมด ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยยังคงเป็นที่นาและจำเลยให้บุคคลอื่นเช่าทำนา ผู้ร้องกับจำเลยได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนโดยถือแนวที่ดินที่มีการถมเป็นแนวเขต เหตุที่ผู้ร้องและจำเลยไม่ได้รังวัดแบ่งแยกโฉนดเนื่องจากที่ดินพิพาทติดจำนองธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องเบิกความดังกล่าว ผู้ร้องมีจำเลยเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยยกที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ให้ผู้ร้อง หลังจากยกให้แล้วผู้ร้องได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาถมดินเพื่อทำไร่ และเว้นที่ไว้บางส่วนเพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลาแต่ขุดไม่ได้เนื่องจากมีน้ำท่วมขัง ปัจจุบันผู้ร้องให้นายประทีปเช่าที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของผู้ร้อง สำหรับที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยยังคงเป็นที่นาแต่จำเลยไม่ได้ทำนายเองเนื่องจากอายุมาก จำเลยให้นางเฉลิมเช่าทำนา และผู้ร้องมีนายประทีปเป็นพยานเบิกความยืนยันเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทว่า พยานเช่าที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันตกจากผู้ร้องมาประมาณ 4 ปี เสียค่าเช่าปีละ 5,000 บาท พยานเช่าที่ดินดังกล่าวเพื่อปลูกมะนาว ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยมีนางเฉลิม เป็นผู้เช่าทำนา นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมีนายจรูญซึ่งเป็นนายช่างผู้ไปทำการรังวัดทำแผนที่วิวาทตามเอกสารหมาย ร.2 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าที่ดินภายในกรอบสีเขียวซึ่งผู้ร้องนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครองเป็นที่ดินที่มีการถมแล้ว มีลักษณะเป็นที่ไร่ ส่วนที่ดินนอกเหนือจากนี้มีสภาพเป็นที่นาซึ่งจำเลยนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครอง ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ไร่มีการปลูกต้นกล้วยและต้นขนุนไว้ที่ขอบที่ดินทางทิศตะวันออก เห็นว่า พยานผู้ร้องเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญเกี่ยวกับลักษณะและที่ตั้งของที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องและจำเลยครอบครอง รวมทั้งการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ส่วนโจทก์มีเพียง ตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ผู้ร้องกับจำเลยยังไม่ได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วน ซึ่งเป็นการเบิกความลอยๆ โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของนายจรูญ พยานผู้ร้องที่ว่า ต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.3 เป็นต้นกล้วยที่ปลูกในที่ดินส่วนที่ผู้ร้องนำชี้ว่าเป็นผู้ครอบครอง ส่วนต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 เป็นของที่ดินข้างเคียงไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากตามภาพถ่ายหมาย ค.2 ที่โจทก์อ้างเห็นได้ว่าเป็นต้นกล้วยและต้นขนุนที่ขึ้นอยู่ขอบที่ดินพิพาทด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก มิได้ขึ้นเป็นแนวเขตแบ่งที่ดินผู้ร้องกับจำเลยดังที่นายจรูญเบิกความ และการที่นายจรูญดูภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 แล้วเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าเป็นที่ดินพิพาทที่ไปรังวัดหรือไม่ และดูไม่ออกว่าสภาพที่ดินทั้งสองแปลงในภาพถ่ายดังกล่าวแปลงใดจะสูงกว่ากันเป็นการเบิกความที่ไม่เป็นกลางและมีพิรุธนั้น เห็นว่า แนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.3 อยู่ติดกับที่นา แต่แนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 อยู่ติดกับที่ดินที่มีการปลูกพืชอื่นซึ่งมิใช่ที่นา หากพิจารณาเฉพาะภาพถ่ายดังกล่าวเปรียบเทียบกันแล้วเห็นได้ว่ามิใช่แนวต้นกล้วยเดียวกัน ทั้งตามภาพถ่ายหมาย ค.2 ก็ไม่มีต้นกล้วยที่แสดงให้เห็นว่าปลูกเป็นแนวเขตที่ดินพิพาทกับที่ดินของบุคคลอื่นดังที่โจทก์อ้าง สำหรับแนวต้นกล้วยในภาพถ่ายหมาย ร.4 ดังกล่าวนี้ได้ความจากนายประเทืองพยานผู้ร้องซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของจำเลยและผู้ร้องว่า เป็นแนวต้นกล้วยในที่ดินของนายยงค์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของผู้ร้อง เป็นคนละส่วนกับต้นกล้วยที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ร.3 ซึ่งเป็นของผู้ร้อง คำเบิกความของนายประเทืองในเรื่องนี้จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนายจรูญ ทั้งโจทก์เองก็เบิกความรับว่าที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันตกจดที่ดินนายประยงค์น่าเชื่อว่านายยงค์หรือนายประยงค์เป็นบุคคลเดียวกันส่วนที่นายจรูญดูภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 แล้วเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าที่ดินในภาพถ่ายดังกล่าวเป็นที่ดินพิพาทที่พยานไปรังวัดหรือไม่ และสภาพที่ดินทั้งสองแปลงในภาพถ่ายหมาย ค.2 แปลงใดจะสูงกว่ากันพยานดูไม่ออกนั้น ก็ได้ความว่านายจรูญไปรังวัดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 แต่มาเบิกความเป็นพยานในคดีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2547 หลังจากไปรังวัดแล้วหลายเดือน ทั้งสภาพที่ดินที่ปรากฏในภาพถ่ายหมาย ค.1 และ ค.2 ก็เห็นแต่แปลงเผือกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งการปลูกเผือกนี้ได้ความจากนายประเทืองว่ามีการนำเผือกมาปลูกในที่นาของจำเลยด้วย และการทำไร่เผือกดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 เดือน น่าเชื่อว่ามีการปลูกเผือกสลับกับการทำนา เมื่อสภาพที่ดินเปลี่ยนเป็นไร่เผือกจึงอาจทำให้นายจรูญซึ่งพิจารณาสภาพที่ดินจากภาพถ่ายที่โจทก์ถ่ายมาดังกล่าวแล้วจำไม่ได้ว่าใช่ที่ดินพิพาทหรือไม่ แม้จะมีภูเขาปรากฏอยู่ในภาพให้เป็นที่สังเกตหลายภาพก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นภาพถ่ายของที่ดินแปลงใดเพราะบริเวณด้านหน้าภูเขาดังกล่าวมีที่ดินอยู่หลายแปลง และสภาพของที่ดินในภาพถ่ายหมาย ค.2 ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะบ่งบอกได้ว่าที่ดินแปลงใดสูงกว่ากัน คำเบิกความของนายจรูญจึงหาเป็นพิรุธไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของผู้ร้อง จำเลย และนายประทีปเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการถมที่ดินพิพาทและการปลูกมะนาวมีพิรุธนั้น เห็นว่า ผู้ร้องถมที่ดินพิพาทเมื่อปี 2538 ซึ่งเวลาผ่านมานานแล้วหลายปี และขณะถมที่ดินก็ไม่ปรากฏว่านายประทีปได้รู้เห็นด้วย การที่นายประทีปเบิกความว่าผู้ร้องใช้เวลาถมดิน 3-4 เดือน ต่างจากคำเบิกความของผู้ร้องที่ว่าใช้เวลาเดือนเดียวนั้น จึงไม่ถึงกับเป็นพิรุธ สำหรับเรื่องการปลูกมะนาวของนายประทีป แม้นายประทีปเบิกความว่าปลูกมะนาวไม่ถึง 2 ปี แต่จำเลยเบิกความว่านายประทีปปลูกมะนาวมาประมาณ 3 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในเรื่องสาระสำคัญเพราะคำเบิกความของจำเลยและนายประทีปเป็นเพียงการกะประมาณเท่านั้นซึ่งอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าไม่ปรากฏต้นมะนาวในภาพถ่ายหมาย ร.3 , ร.4 , ค.1 และ ค.2 นั้น เห็นว่า ภาพถ่ายที่ผู้ร้องและโจทก์อ้างส่งศาลดังกล่าวถ่ายให้เห็นสภาพที่ดินพิพาทเพียงบางส่วนเท่านั้นมิได้ถ่ายให้เห็นที่ดินพิพาททั้งหมด ลำพังแต่ภาพถ่ายดังกล่าวยังชี้ชัดไม่ได้ว่าไม่มีการปลูกมะนาวในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์อ้าง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องและจำเลยได้ตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยกับผู้ร้องก่อนมีการบังคับคดีแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยและผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1346 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญมีสิทธิบังคับคดีได้เท่าที่จำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาที่ดินส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอให้กันที่ดินพิพาทส่วนที่ผู้ร้องครอบครองก่อนนำที่ดินพิพาททั้งแปลงออกขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share