แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่า กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วโอนทรัพย์ดังกล่าวให้โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการบังคับคดี โจทก์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว การโอนที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการฉ้อฉลโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 กับนายกริช คงเปี่ยมได้จดทะเบียนหย่าขาดกันโดยมีข้อตกลงว่าให้ยกทรัพย์สินที่จำนองไว้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ครอบครองทรัพย์สินตั้งแต่วันจดทะเบียนหย่า แต่ยังไม่ได้แก้ไขชื่อทางทะเบียนเพราะทรัพย์สินยังติดจำนองอยู่ ต่อมาจึงมีการไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การกระทำของจำเลยทั้งสามมิได้เป็นการฉ้อฉลโจทก์ เพราะการยกให้เกิดก่อนจำเลยที่ 1จะเป็นลูกหนี้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาโจทก์ที่ว่าศาลจังหวัดตากได้พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 333/2532และคดีถึงที่สุด ในคดีแพ่งศาลฟังข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคดีอาญานั้น คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา ในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษายืน