คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นอกจากเป็นเจ้าพนักงานศาลแล้วยังมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งกระทำการต่าง ๆ ในนามลูกหนี้อีกฐานะหนึ่งจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องเพื่อให้ผู้ร้องไปยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วันนั้น ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งไว้แต่ประการใด การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ต่อศาลชั้นต้นโดยปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 119 นั้น เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้องเพื่อนำไปยื่นตามขั้นตอนที่ถูกต้องศาลก็เพียงแต่ชอบที่จะอนุญาตให้ถอนคำร้องได้เท่านั้นไม่ชอบที่จะก้าวล่วงไปกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต่างกับกรณีการฟ้องคดีต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 วรรคสาม มาปรับแก่กรณีนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านหนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่อ้างว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันที่ต้องรับผิดต่อจำเลยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า หนังสือตามคำร้อง ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยและปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน แต่ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาล ถือว่าหนี้ส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้เด็ดขาดแล้ว ขอให้ยกคำร้อง ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องขอถอนคำร้องเพื่อไปยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เนื่องจากเข้าใจว่าหนังสือตามคำร้องเป็นหนังสือยืนยันหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนคำร้องได้ เพื่อให้ผู้ร้องไปยื่นคำคัดค้านภายใน14 วันนับแต่วันนัดไต่สวนคำร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ผู้ร้องไปยื่นคำคัดค้านภายใน 14 วัน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเจ้าพนักงานศาล ไม่มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มีนาคม 2529 ที่อนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องเพื่อไปยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งกระทำการต่าง ๆ ในนามลูกหนี้อีกฐานะหนึ่งจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มีนาคม 2529เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226จึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้นั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ถอนคำร้องเพื่อให้ผู้ร้องไปยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วันนั้น ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่จำต้องโต้แย้งคำสั่งไว้แต่ประการใด
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถอนคำร้องแล้วไปยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ใช่กรณีที่ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หากแต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ผิดสถานที่ ปรับได้กับกรณีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจซึ่งศาลมีอำนาจที่จะให้คู่ความถอนฟ้องไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจใหม่ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสามนั้น เห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119 เมื่อผู้ร้องขอถอนคำร้องเพื่อนำไปยื่นตามขั้นตอนที่ถูกต้องศาลก็เพียงแต่ชอบที่จะอนุญาตให้ถอนคำร้องได้เท่านั้น ไม่ชอบที่จะก้าวล่วงไปกำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องเช่นว่านี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต่างกับกรณีการฟ้องคดีต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสาม มาปรับแก่กรณีนี้ได้
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนี้ดอกเบี้ยไม่มี เพราะผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้วว่าไม่ได้เป็นหนี้เงินกู้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ยืนยันหนี้จึงไม่ได้เป็นหนี้ดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวด้วยนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องสอบสวนและยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 119 จึงไม่เป็นประเด็นจะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบด้วยรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share