คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสินค้าพิพาทส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งปรากฏว่าหีบห่อชำรุดเสียหาย 2 หีบ สินค้าสูญหายไป 9 รายการ เช่นนี้มูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายไทย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติว่า รับขนของทางทะเล ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่เลย จึงจำเป็นต้องนำบทบัญญัติแห่งป.พ.พ. ลักษณะรับขน ในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี
การที่จำเลยผู้ขนส่งออกใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4(5) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ด้านหลังใบตราส่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กมากจนยากที่จะอ่านได้ ไม่มีช่องสำหรับให้ผู้ใดลงชื่อ แม้ผู้ส่งสินค้าจะลงชื่อไว้ที่ด้านหลังเอกสารดังกล่าว แต่ก็ลงชื่อด้วยตัวอักษรโตกว่าข้อกำหนดต่าง ๆ มากทั้งลงชื่อทับข้อกำหนดต่าง ๆ ด้วยน่าจะเป็นการลงชื่อรับคู่ฉบับหรือสำเนาเอกสารมากกว่า ยังถือไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดนั้นข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ส่งและผู้รับตราส่งซึ่งรับสิทธิมาจากผู้ส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 627ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งมาอีกทอดหนึ่งด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการประกันภัยในประเทศไทย จำเลยทั้งสองเข้าหุ้นกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อเดินเรือรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในประเทศไทย ได้สั่งซื้อสินค้าอะไหล่รถแทรกเตอร์และอะไหล่จักรกลจากบริษัทเอ็กซ์เป็ค อิงค์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา มีราคาตามใบกำกับสินค้าซึ่งเป็นราคาซื้อขายในระบบซีแอนด์เอฟกรุงเทพฯ (มูลค่าสินค้าบวกค่าขนส่งจนถึงเมืองท่าผู้ซื้อที่กรุงเทพฯ) จำนวน 165,117.47 เหรียญสหรัฐ หรือ3,797,701 บาท 81 สตางค์ บริษัทผู้ซื้อได้เอาประกันวินาศภัยสินค้าดังกล่าวไว้กับโจทก์มีมูลประกันภัยทั้งสิ้น 181,630เหรียญสหรัฐ หรือ 4,177,490 บาท บริษัทผู้ขายได้ส่งสินค้าลงเรือดราโกเมอสก์ ที่ท่าเรือเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกาและขนถ่ายลงเรือเมอสก์แมนโก ที่ประเทศสิงคโปร์ต่อมาจนถึงท่าเรือกรุงเทพ ฯ เรือทั้งสองลำดังกล่าวเป็นของจำเลยทั้งสองได้มีการตรวจสอบสินค้าปรากฏว่า สินค้าสูญหายไปจำนวนหนึ่งมีมูลค่าตามรายการสินค้าสูญหาย 2,630.97 เหรียญสหรัฐ หรือ60,512 บาท 31 สตางค์ บริษัทผู้ซื้อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองปฏิเสธ บริษัทผู้ซื้อเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้ารายนี้ โจทก์ได้ชำระหนี้ตามส่วนเป็นเงิน 3,362 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือเท่ากับ77,333 บาท 82 สตางค์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสองยอมรับผิดแต่ขอชำระเพียง 22,980 บาท อ้างเงื่อนไขความรับผิดท้ายใบตราส่งซึ่งโจทก์หรือบริษัทผู้ซื้อไม่รู้เห็นด้วยโจทก์จึงปฏิเสธที่จะรับชำระหนี้ตามจำนวนที่จำเลยทั้งสองขอชำระ และขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับช่วงสิทธิ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 80,845 บาท 63 สตางค์ แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้น 37,333บาท 82 สตางค์ นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง เพราะมีข้อตกลงระหว่างบริษัทโฮลด์บราเดอร์สซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอ็กซ์เป็ค อิงค์ ผู้ส่งสินค้ารายพิพาท กับชมรมเดินเรือสายแปซิฟิคตะวันตก (พี.ดับบลิว.ซี.)ว่ายอมรับผูกพันตามข้อตกลงจำกัดความรับผิดและเงื่อนไขในใบตราส่งของสายการเดินเรือที่เป็นสมาชิกในชมรมเดินเรือดังกล่าว สายการเดินเรือเมอสก์ไลน์เป็นสมาชิกในชมรมเดินเรือดังกล่าวด้วย ถ้าบริษัทเอ็กซ์เป็ค อิงค์ มีสิทธิเรียกค่าเสียหายก็เรียกได้เพียงหีบห่อละ 500 เหรียญสหรัฐ 2 หีบห่อเป็นเงินเพียง 1,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 22,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์รับช่วงสิทธิ วันที่ 22 กรกฎาคม 2525เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า …โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าไว้เป็นเงิน 4,177,490 บาท เมื่อสินค้าส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีหีบห่อชำรุดเสียหายอยู่ 2 หีบห่อ สินค้าใน 2 หีบห่อนี้สูญหายไป 9 รายการ จำนวน72 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 60,512.31 บาท บริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้โจทก์รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทผู้ซื้อไปเป็นเงิน 77,333.82บาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525 โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากบริษัทผู้ซื้อมาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้เงินให้เพียง 1,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 22,980 บาท อ้างว่าเป็นความรับผิดขั้นสูงสุดตามข้อ 5 (2) ของใบตราส่ง และตามมาตรา 4 (5) ของกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหามีว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้เงินให้โจทก์เต็มจำนวน 77,333.82 บาทหรือเพียง 22,980 บาท
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าเมื่อสินค้ารายพิพาทส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่ง ก็ปรากฏว่าหีบห่อชำรุดเสียหายอยู่ 2 หีบ สินค้าสูญหายไป 9 รายการ รวม 72 ชิ้นเช่นนี้มูลคดีจึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องบังคับกันตามกฎหมายไทย ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรค 2บัญญัติว่า รับขนของทางทะเล ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเลใช้บังคับ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีประเพณีการขนส่งทางทะเลที่ถือปฏิบัติกันอยู่เลย จึงจำเป็นต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขน ในหมวดรับขนของ อันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีเกี่ยวกับกรณีนี้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 625 ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองเดียวกันซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ข้อความนั้นเป็นโมฆะเว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น การที่จำเลยได้ออกใบตราส่ง เอกสารหมาย ล.1 กำหนดเงื่อนไขไว้ด้านหลังว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายของสินค้าเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 (5) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625นั่นเอง ปัญหาต่อไปจึงมีว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้นหรือไม่ศาลฎีกาได้พิจารณาเอกสารหมาย ล.1 พร้อมทั้งคำแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 นั้น ด้านหน้าระบุจำนวนหีบห่อของสินค้า ผู้ส่ง ผู้รับสินค้า ฯลฯ นอกนั้นยังมีข้อความว่าผู้ลงชื่อในฐานะตัวแทนยอมผูกพันตามข้อกำหนด ข้อยกเว้นและเงื่อนไขที่ปรากฏในด้านหน้าและด้านหลังใบตราส่ง และมีลายมือชื่อตัวแทนแต่ไม่ปรากฏว่าเป็นตัวแทนของผู้ใด ทั้งไม่อาจแปลว่าเป็นตัวแทนของผู้ใดได้เลยสำหรับด้านหลังเอกสารฉบับนี้เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็กมากจนยากที่จะอ่านได้ไม่มีช่องสำหรับให้ผู้ใดลงชื่อ สำหรับข้อความด้านหลังนี้มีข้อกำหนด ข้อยกเว้นและเงื่อนไขต่าง ๆ มากมายรวมทั้งข้อจำกัดความรับผิดที่ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดสำหรับความสูญหายหรือเสียหายเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 (5) แห่งกฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย และที่ด้านหลังเอกสารนี้เองมีลายมือชื่อของบุคคลผู้กระทำในนามของผู้ส่งสินค้าอยู่ด้วยเพราะมีชื่อบริษัทผู้ส่งสินค้าประทับไว้เหนือลายมือชื่อดังกล่าว ลายมือชื่อของบุคคลด้านหลังไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลที่ลงชื่อไว้ด้านหน้าในฐานะตัวแทนดังกล่าว เชื่อว่าลายมือชื่อด้านหน้านั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของตัวแทนผู้ส่งสินค้า จึงไม่ถือว่าผู้ส่งสินค้าลงชื่อยอมรับเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ไว้ที่ด้านหน้าของใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1ส่วนที่ผู้ส่งสินค้าลงชื่อไว้ที่ด้านหลังเอกสารฉบับนี้นั้น ไม่มีข้อความระบุว่าลงชื่อไว้เพื่อจุดมุ่งหมายอันใดจะแปลว่าลงชื่อยอมรับข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ปรากฏด้านหลังนี้ก็ไม่ได้เพราะไม่มีข้อความระบุไว้เช่นนั้นดังเช่นที่ด้านหน้าเอกสาร ลักษณะการลงชื่อก็เป็นการลงชื่อด้วยตัวอักษรที่โตกว่าข้อกำหนดต่าง ๆ มาก ทั้งเป็นการลงชื่อทับข้อกำหนดต่าง ๆ ด้วย ลักษณะการลงชื่อด้านหลังเอกสารฉบับนี้บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการลงชื่อรับคู่ฉบับหรือสำเนาเอกสารฉบับนี้มากกว่า ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าผู้ส่งสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังกล่าว ข้อความจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันผู้ส่ง และไม่อาจผูกพันบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งรับสิทธิมาจากผู้ส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 ตลอดจนโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์เต็มจำนวน 77,333.82 บาท ซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปจริง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน77,333.82 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท’

Share