คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 มาตรา8 ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า)และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวกับการศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า)พ.ศ. 2492 กับพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีอำนาจแต่งตั้งโดยพลการคณะกรรมการมัสยิดของโจทก์ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยมิได้มีการประชุมชาวสัปบุรุษเพื่อเลือกตั้ง ย่อมทำให้ผู้ได้รับแต่งตั้งไม่เป็นกรรมการโดยชอบและต่อมาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งให้จำเลยกับพวกกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ต่อไปตามเดิมก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามมัสยิดโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้บุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงมอบอำนาจให้นายอามีน เชื้อผู้ดี ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะกรรมการของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้รับเลือกมาจากปวงสัปบุรุษ คณะกรรมการของโจทก์จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ได้โดยพลการเมื่อเห็นสมควรและในกรณีตำแหน่งกรรมการของมัสยิดว่างลงก่อนครบวาระ โดยไม่จำต้องประชุมชาวสัปบุรุษเลือกตั้งตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามพ.ศ. 2490 นั้น ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า อิหม่าม คอเต็ม และคณะกรรมการมัสยิดของโจทก์ ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งโดยมิได้มีการประชุมชาวสัปบุรุษเพื่อเลือกตั้งขึ้นมานั้นมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามพ.ศ. 2488 มาตรา 8 ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวกับการศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492 กับพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490 มาตรา 8 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีอำนาจแต่งตั้งโดยพลการ จึงทำให้ผู้ได้รับแต่งตั้งไม่เป็นกรรมการโดยชอบและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และพวกกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ต่อไปตามเดิมก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามมัสยิด
พิพากษายืน.

Share