คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4222/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าพิพาทที่จำเลยนำเข้าทำด้วยเหล็ก มีขนาดสูงประมาณ 14 – 15 เซนติเมตร กว้าง 22 – 25 เซนติเมตร ยาว 30 – 36 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 4 – 5 กิโลกรัม มีกุญแจและรหัสเป็นตัวเลข ตั้งแต่เลข 0 ถึงเลข 100 ใช้สำหรับปิดเปิด เมื่อเปิดฝาหรือเคลื่อนย้าย จะมีเสียกริ่งดัง เป็นสัญญาณใช้สำหรับกันขโมย ดังนี้ สินค้าดังกล่าวจึงเป็นหีบใส่เงิน ต้องเสียภาษีอากรตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทในพิกัดประเภทที่ 83.03 อัตราร้อยละ 15 หาใช่ของใช้ในบ้านเรือนในพิกัดประเภทที่ 73.38 ข. อัตราร้อยละ 50 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี ๒๕๑๖ ถึงปี ๒๕๑๙ จำเลยที่ ๑ ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งหีบใส่เงิน รวม ๗ ครั้ง โดยเสียภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ ๘๓.๐๓ อัตราร้อยละ ๑๕ ได้ชำระภาษีและรับสินค้าไปแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นกำปั่นที่มั่นคงแข็งแรงที่สามารถป้องกันภัยและขโมยได้ ถือว่าเป็นของใช้ในบ้านเรือนที่ทำด้วยเหล็ก ต้องชำระภาษีอากรตามพิกัดประเภทที่ ๗๘.๓๘ ข. อัตราร้อยละ ๕๐ เป็นเหตุให้ชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลขาดไป เมื่อรวมเงินเพิ่มด้วยแล้วเป็นเงิน ๔๘๙,๓๙๙.๕๘ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า สินค้าพิพาทคือหีบใส่เงิน ได้เสียภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ ๘๓.๐๓ อัตราร้อยละ ๑๕ ถูกต้องแล้ว เพราะในพิกัดดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าหีบใส่เงินและหีบเก็บเอกสารและสิ่งที่คล้ายกันทำด้วยโลหะสามัญ มิได้อยู่ในพิกัดประเภทที่ ๗๓.๓๘ ดังโจทก์อ้าง และหีบใส่เงินของจำเลยที่ ๑ มีกุญแจปิดเปิด มีหน้าปัดหมุนรหัสปิดเปิด มีกริ่งสัญญาณเตือนกันเวลาปิดเปิด จึงเป็นหีบใส่เงินตามพิกัดประเภทที่ ๘๓.๐๓ แล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หีบใส่เงินที่จำเลยที่ ๑ นำเข้าทำด้วยเหล็กมีขนาดสูงประมาณ ๑๔ – ๑๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๒ – ๒๕ เซนติเมตร ยาว ๓๐ – ๓๖ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๔ – ๕ กิโลกรัม มีกุญแจสำหรับปิดเปิดมีรหัสเป็นตัวเลขตั้งแต่ ๐ ถึงเลข ๑๐๐ ใช้สำหรับปิดเปิด เมื่อเปิดฝาหีบหรือเคลื่อนย้ายหีบจะมีเสียงกริ่งดังเป็นสัญญาณใช้สำหรับกันขโมย และวินิจฉัยว่า สินค้าพิกัดประเภทที่ ๗๓.๓๘ ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทได้แก่ของชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน เครื่องสุขภัณฑ์สำหรับใช้ในภายในอาคาร รวมทั้งส่วนของของและเครื่องดังกล่าว ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ก. เครื่องสุขภัณฑ์ใช้ติดประจำที่ รวมทั้งส่วนของเครื่องสุขภัณฑ์ดังกล่าว ข. อื่น ๆ จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดของที่พิกัดประเภทที่ ๗๓.๓๘ ไว้ โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องเป็นประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้าน และที่กำหนดไว้ในข้อ ข. นั้น ก็ย่อมหมายความถึงของชนิดอื่นๆ ที่เป็นประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้าน ที่มิได้ระบุไว้ในข้อ ก. นั่นเอง จึงไม่หมายความรวมถึงสินค้าพิพาท ซึ่งมิใช่ของชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน ประเภทเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำบ้านที่มีใช้กันทั่วไป กล่าวคือสินค้าพิพาททำด้วยเหล็ก มีกุญแจและรหัสปิดเปิด เมื่อเปิดฝาหรือเคลื่อนย้ายจะมีเสียงกริ่งสัญญาณดัง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นหีบสำหรับใช้เก็บเงินหรือของมีค่า มีความมั่นคงพอสมควร และโดยสภาพดังกล่าวย่อมสามารถจะป้องกันไฟและขโมยได้ตามสมควร และปรากฏตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า สินค้าพิกัดประเภทที่ ๘๓.๐๓ ได้แก่ ตู้นิรภัย กำปั่น ห้องนิรภัยที่หุ้มหรือเสริมให้มั่นคง ผนังด้านต่าง ๆ ที่ใช้บุในห้องนิรภัย และประตูนิรภัย หีบใส่เงินและหีบเก็บเอกสาร และสิ่งที่คล้ายกัน ทำด้วยโลหะสามัญ สินค้าที่พิกัดประเภทนี้มุ่งถึงของที่ทำด้วยโลหะสามัญ มั่นคงพอสมควรเพื่อกันขโมย โดยเฉพาะระบุไว้ชัดว่าหมายความรวมถึงหีบใส่เงินด้วย ลักษณะของสินค้าพิพาทมิได้มีขนาดเล็กมาก เรียกได้ว่าเป็นหีบซึ่งถือได้ว่าเป็นหีบใส่เงินมีความมั่นคงพอสมควร ซึ่งโดยสภาพย่อมสามารถป้องกันไฟและป้องกันขโมยได้ตามสมควรที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ ๘๓.๐๓ มิใช่ประเภทที่ ๗๓.๓๘ ข.
พิพากษายืน

Share