แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาเช่า และจำเลยได้ครอบครองอยู่ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อปลูกต้นปาล์มน้ำมัน จึงเป็นกรณีครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน จำเลยจึงเป็นเจ้าของที่ดินตามความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินดังกล่าว
โจทก์ประเมินให้จำเลยรับผิดชำระภาษีบำรุงท้องที่ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ ฯ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินนั้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ บัญญัติให้ฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการและได้มีการชี้ขาดคำคัดค้านหรืออุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว การห้ามฟ้องคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความรวมถึงการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดี
การยื่นแบบแสดงรายการที่ดินตาม พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ ฯ มาตรา 30 วรรคสอง แบบแสดงรายการดังกล่าวใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลาสี่ปี เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินแทนจำเลยในปีภาษี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินเพื่อคำนวณภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 24 วรรคสองแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินในปีภาษี พ.ศ. 2542 ถึง 2544 ซึ่งเป็นปีที่สองถึงที่สี่อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่พร้อมเงินเพิ่มแก่โจทก์จำนวน ๓๙๗,๖๖๔ บาท กับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละยี่สิบสี่ต่อปีของเงินต้นค่าภาษี ๒๗๕,๒๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยเศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน
จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ – สลุย ในลักษณะการเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยมิใช่เจ้าของที่ดิน การเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาระของกรมป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และข้อเท็จจริงยังไม่ยุติว่าพื้นที่ที่จำเลยครอบครองในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหงษ์เจริญมีพื้นที่เท่าใด การประเมินที่โจทก์กล่าวอ้างจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มเนื่องจากการไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีภายในกำหนด สำหรับปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นเงิน ๒๖๔,๘๘๐ บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ ๔,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบท้องที่เขตตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร รวมทั้งการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ครอบครองและทำประโยชน์ปลูกต้นปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ – สลุย ซึ่งอยู่ในท้องที่ตำบลสลุยและตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร มีกำหนด ๓๐ ปี นับแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ฯ สำหรับที่ดินที่อยู่ในเขตตำบลหงษ์เจริญ ในปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ เจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานสำรวจได้ทำการสำรวจและยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๔ แทนจำเลย ที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตเทศบาลที่มีกำนัน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินโดยวิธีประกาศแจ้งการประเมินไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอท่าแซะ ที่ทำการกำนันตำบลหงษ์เจริญ และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านที่ที่ดินตั้งอยู่ตามประกาศอำเภอท่าแซะเรื่องแจ้งการประเมินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ แต่จำเลยไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยมิใช่เจ้าของที่ดิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ บัญญัติว่า “ให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ ๑ มกราคม ของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดิน
” มาตรา ๖ บัญญัติว่า “ในพระราชบัญญัตินี้
“ที่ดิน” หมายความว่า พื้นที่ดิน และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือที่มีน้ำด้วย
“เจ้าของที่ดิน” หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน
“ปี”
” บทกฎหมายดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่า บุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือมิได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่เป็นผู้ครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ในวันที่ ๑ มกราคมของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นโดยคำนวณภาษีบำรุงท้องที่จากราคาปานกลางของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือที่ได้ครอบครองอยู่สำหรับที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในปีภาษีที่พิพาทจำเลยได้ครอบครองอยู่ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ – สลุย เพื่อปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาเช่า จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน จำเลยจึงเป็นเจ้าของที่ดินผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น กรณีหาได้มีปัญหาต้องตีความกฎหมายดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติไม่ใช่ที่ดินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๘ (๑) ถึง (๑๑) ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกฎกระทรวงกำหนดให้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อ – สลุย ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๘ (๑๒) และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจกรมป่าไม้หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งงดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ จำเลยจึงต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยครอบครองและอัตราภาษีบำรุงท้องที่ตามการประเมินไม่ถูกต้องนั้น เป็นการโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินนั้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กรณีจึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๗ (๑) ซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ บัญญัติให้ฟ้องคดีภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการคัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงาน หรือคณะกรรมการ และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรืออุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว การห้ามฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรานี้หมายความรวมถึงการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีด้วย จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของเจ้าพนักงานประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จึงไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ในคดี และต้องรับผิดชำระภาษีบำรุงท้องที่ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน การที่ศาลภาษีอากรกลางรับวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขการประเมินให้จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดลงจากการประเมินเป็นการไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงให้จำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนที่ประเมินไม่ได้ จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในเวลาที่กำหนดจึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔๕ (๑) แต่แบบแสดงรายการที่ดินดังกล่าวใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลาสี่ปีตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๓๐ วรรคสอง เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินแทนจำเลยในปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดินเพื่อคำนวณภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา ๒๔ วรรคสองแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินในปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๒ ถึง ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นปีที่สองถึงที่สี่อีก จำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มสำหรับการไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเฉพาะปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นปีแรกเป็นเงิน ๖,๐๒๐ บาท เท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางให้จำเลยเสียเงินเพิ่มสำหรับการไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินทั้งสี่ปีเป็นเงินรวม ๒๔,๐๘๐ บาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน และมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปี หรือชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา ๓๕ จำเลยไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด จึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบสี่ต่อปีของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือนแต่ไม่ให้นำเงินเพิ่มสำหรับการไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินมาคำนวณเพื่อเสียเงินเพิ่มในการนี้ด้วยตามมาตรา ๔๕ (๔) อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ภาษีบำรุงท้องที่และเงินเพิ่มตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางคำนวณถึงเดือนฟ้อง (มิถุนายน ๒๕๔๔) ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นจำนวน ๓๔๗,๙๕๖ บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๐ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๑๗ คิดเป็นค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ๘,๗๐๐ บาท จำเลยเสียมา ๙,๘๐๕ บาท เกินมา ๑,๑๐๕ บาท จึงให้คืนแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีภาษี พ.ศ. ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๔๔ และเงินเพิ่มสำหรับการไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินรวมเป็นเงิน ๒๔๖,๘๒๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เกินมา ๑,๑๐๕ บาท แก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.