คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จำเลยฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ส่วนฎีกาในข้อกฎหมายที่ว่า หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ไม่ครบตามประมวลรัษฎากรฯ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง แม้จะมีข้อตกลงให้ผู้เช่ามีสิทธิซื้อทรัพย์สินที่เช่าเมื่อสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งสิ้นสุดลงแล้ว ก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่า ถ้าผู้เช่าไม่ใช้สิทธิก็ต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้เช่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่ได้ตกเป็นของผู้เช่าทันทีจึงแตกต่างจากสัญญาเช่าซื้อในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ซึ่งหากผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งจึงเป็นสัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรฯ มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่งจากโจทก์ในราคา 801,600 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยทั้งสามไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์จึงติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพที่ชำรุด นำออกประมูลขายได้เงินเพียง 272,800 บาททำให้ขาดราคา 291,200 บาท และขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินเป็นเวลา 7 เดือนเศษ คิดเป็นเงิน 116,900 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน408,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิใช่คู่สัญญา และหนังสือมอบอำนาจปลอม ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 มุ่งหมายผูกพันในลักษณะเช่าซื้อ แต่สัญญาพิพาทไม่ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากได้รับชำระหนี้คุ้มทุนแล้วประกอบกับคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ 1 นี้มีลักษณะใกล้เคียงกับบทกฎหมายเรื่องเช่าซื้อ และเมื่อปรากฏว่าสัญญาพิพาทดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ จึงไม่อาจนำมาใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดี พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 179,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับค่าเสียหายเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อกฎหมายซึ่งข้อกฎหมายที่ว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบตามประมวลรัษฎากรจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ดังที่จำเลยที่ 3 แถลงปิดคดีนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาเช่าทรัพย์หรือเป็นสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาที่ผู้ให้เช่าให้ผู้เช่าทรัพย์สินในราคาที่คู่สัญญาตกลงกัน แต่ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าคู่สัญญาได้ตกลงซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าและไม่ปรากฏว่าค่าเช่าที่ชำระให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่เช่า แม้จะมีข้อตกลงให้ผู้เช่ามีสิทธิซื้อทรัพย์สินที่เช่าเมื่อสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งสิ้นสุดลงแล้ว ก็เป็นเพียงคำมั่นจะขายทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่า หากผู้เช่าประสงค์จะซื้อในอนาคตโดยเสนอราคาจะขายไว้ล่วงหน้าในราคา 63,000 บาท ซึ่งถ้าผู้เช่าไม่ใช้สิทธิก็ต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้เช่า จึงเป็นการให้สิทธิผู้เช่าก่อนบุคคลอื่นในการใช้สิทธิซื้อทรัพย์สินที่เช่าภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไม่ได้ตกเป็นของผู้เช่าทันที จึงแตกต่างจากสัญญาเช่าซื้อในสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ที่ว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้นคือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าหากผู้เช่าชำระค่าเช่าซื้อครบตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่าสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายรัษฎากรมิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยส่วนฎีกาอื่น ๆ ของจำเลยที่ 3 เช่น หากจำเลยที่ 1 ไม่ซื้อทรัพย์สินที่เช่าและโจทก์นำออกขายให้ผู้อื่นได้ราคาต่ำกว่า 63,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องชดใช้ส่วนที่ขาดนั้นแก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ ไม่มีผลให้สัญญาเช่าทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.5 กลับเป็นสัญญาเช่าซื้อ ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share