คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หน้าฟ้องลงข้อหาว่า “ปลอมหนังสือ ใช้หนังสือปลอม”คำบรรยายฟ้องก็ชัดเช่นนั้น ส่วนคำขอท้ายฟ้องพิมพ์ไว้แต่เพียงว่าขอให้ลงโทษตามมาตรา 264, 265, 266, 268 โดยมิได้อ้างชื่อกฎหมายแห่งมาตรานั้น ๆ ว่าเป็นกฎหมายอะไรก็จริงอยู่แต่เมื่อประมวลแล้วทราบได้ว่ากฎหมายที่ขอให้ลงโทษนั้นคือประมวลกฎหมายอาญา ทั้งมาตราที่พิมพ์ไว้ในคำขอท้ายฟ้องตรงกับมาตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาในหมวดว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเอกสาร คำฟ้องของโจทก์คดีนี้ขาดตกบกพร่องเพียง แต่มิได้ระบุชื่อของกฎหมาย แต่ก็มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกฎหมายอะไร เช่นนี้ หาเพียงพอที่จะถือว่าคำฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(6) แต่อย่างใดไม่ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2514)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางสาวชลลดาหรืออาเจ็ง จันทร์ดิลกรัตน์ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทง ต่างกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ

ก. เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2510 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2510 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับนางสาวชลลดาหรืออาเจ็งได้ร่วมกันกระทำการปลอมเช็คของนายมนตรี เกรียงไกรเลิศ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิประเภทตั๋วเงิน กล่าวคือ จำเลยใช้ให้นางสาวชลลดาหรืออาเจ็งเขียนข้อความลงในเช็คของนายมนตรี เกรียงไกรเลิศ คือเช็คธนาคารศรีนครจำกัด เลขที่ เอ็น 8.080437 ความว่า จ่ายเงิน 50,000 บาท แก่ผู้ถือโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย แล้วนางสาวชลลดาหรืออาเจ็งลงนามว่า “มนตรี เกรียงไกรเลิศ” เป็นผู้สั่งจ่ายตามที่จำเลยใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากนายมนตรี เกรียงไกรเลิศ แต่อย่างใด ทั้งนี้โดยเจตนาเพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าเป็นตั๋วเงินที่นายมนตรี เกรียงไกรเลิศ เป็นผู้เซ็นสั่งจ่ายทำให้นายมนตรี เกรียงไกรเลิศ และสาธารณชนเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลสี่พระยา อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร

ข. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2510 เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาทุจริตบังอาจใช้เช็คธนาคารศรีนคร จำกัด เลขที่ เอ็น 8.080437 ซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมดังกล่าว โดยจำเลยนำเช็คนั้นมอบให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนเช็ค 3 ฉบับเป็นเงิน 30,000 บาทซึ่งจำเลยได้นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ไว้ก่อน และถึงกำหนดวันจ่ายแล้ว กับจำเลยขอรับเงินสดจากโจทก์อีก 20,000 บาทรวมเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยลงนามสลักหลังเช็คนั้น และประทับตรายี่ห้อการค้าของจำเลยเป็นการรับรองค้ำประกันเช็ค โจทก์หลงเชื่อว่าเช็คนั้นเป็นของนายมนตรีเกรียงไกรเลิศ ลงนามสั่งจ่าย จึงยอมรับแลกเช็คไว้แล้วมอบเช็ค3 ฉบับและเงินสด 20,000 บาทให้จำเลยไป ต่อมาโจทก์ติดต่อกับนายมนตรี เกรียงไกรเลิศ จึงทราบว่าเป็นเช็คปลอม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์นายมนตรี เกรียงไกรเลิศ และสาธารณชนเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลวัดราชบพิธ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนครโจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน โดยประสงค์จะฟ้องคดีเอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 264, 265, 266 และ 268

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เกี่ยวข้องในการปลอมเช็ค และฟังไม่ได้ว่าขณะใช้จำเลยได้ทราบว่าเป็นเช็คปลอม และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพราะโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 264, 265, 266, 268 แต่ไม่ได้ระบุว่า เป็นกฎหมายอะไร คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แล้ว และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้เช็คพิพาทโดยรู้ว่าเป็นเช็คปลอม พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ให้จำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามจำเลยฎีกาอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ 2 จำเลยใช้เช็คพิพาทโดยรู้ว่าเป็นเช็คปลอมหรือไม่

สำหรับประเด็นแรกเห็นว่า หน้าฟ้องของโจทก์ลงข้อหาว่า “ปลอมหนังสือ ใช้หนังสือปลอม” คำบรรยายฟ้องก็ชัดเช่นนั้น ส่วนคำขอท้ายฟ้องพิมพ์ไว้แต่เพียงว่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 264, 265, 266 และ 268 โดยมิได้อ้างชื่อกฎหมายแห่งมาตรานั้น ๆ ว่าเป็นกฎหมายอะไรก็จริงอยู่ แต่เมื่อประมวลแล้วทราบได้ว่ากฎหมายที่ขอให้ลงโทษนั้นคือประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง ทั้งมาตราที่พิมพ์ไว้ในคำขอท้ายฟ้องตรงกับมาตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ดังนี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ขาดตกบกพร่องเพียงแต่มิได้ระบุชื่อของกฎหมายแต่ก็มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกฎหมายอะไร เช่นนี้หาเพียงพอที่จะถือว่าคำฟ้องนั้นเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แต่อย่างใดไม่ ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 488/2483 ที่จำเลยอ้างมา เป็นเรื่องโจทก์ในคดีนั้นอ้างกฎหมายที่ยกเลิกแล้ว ซึ่งถือเสมือนหนึ่งมิได้อ้างกฎหมายอันใดมาในคำฟ้องเลย กรณีจึงเป็นคนละอย่างกัน จะนำมาใช้เป็นหลักอ้างอิงในคดีนี้มิได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนประเด็นข้อสอง ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยนำเช็คพิพาทไปแลกเงินจากโจทก์ จำเลยได้รู้ว่าเช็คนั้นเป็นเช็คปลอมและอาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานใช้เช็คอันเป็นเอกสารสิทธิประเภทตั๋วเงินปลอมดังโจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างน้ำหนักพยานโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share