แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยและนาง ต. มิได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินพิพาทที่นางต. ได้รับการยกให้จากพี่ชายในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันกับจำเลย จึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไม่ได้ และที่ดินพิพาทดังกล่าวนาง ต. ได้รับการยกให้ฝ่ายเดียวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันกับจำเลย อันจะแบ่งในฐานะหุ้นส่วนครึ่งหนึ่งดังที่โจทก์อ้าง จำเลยจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเลย การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางตาเลือหาญ ภรรยาจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 5721 ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนางตาได้รับการยกให้ที่ดินดังกล่าวจากพี่ชาย ต่อมาเมื่อนางตาถึงแก่กรรม จำเลยจึงได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในราคา 470,000 บาท แต่จำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทนางตาได้มาโดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัว จำเลยไม่มีส่วนเป็นเจ้าของ จำเลยกับนางตาอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส โจทก์และจำเลยต่างสำคัญผิดว่าที่ดินส่วนซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนางตาจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงตกลงขายที่ดินส่วนของนางตาให้โจทก์ โดยทายาทโดยธรรมของนางตาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยการสำคัญผิดในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นายหยิบพี่ชายของนางตายกให้แก่นางตา แม้จะเป็นการยกให้ระหว่างอยู่กินกับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยกับนางตามิได้จดทะเบียนสมรสจึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไม่ได้ และที่ดินดังกล่าวนางตาได้รับการยกให้ฝ่ายเดียวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันกับจำเลย อันจะแบ่งในฐานะหุ้นส่วนครึ่งหนึ่งดังที่โจทก์อ้าง ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเลย การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เมื่อจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และนิติกรรมที่ทำกับโจทก์เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156แล้ว คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ชอบที่จะเข้าสวมสิทธิหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในนามโจทก์ในเรื่องแบ่งทรัพย์นางตาต่อไปแต่อย่างใด
พิพากษายืน