แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติ ญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5) บัญญัติว่า”ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กานโค่นลิดเลื่อนผ่าถาก ทอน ขุดชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ ” ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้โดยการตัด ฟัน พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มิได้ให้ความหมายพิเศษของคำว่า ตัด ฟัน และการกระทำอื่น ๆ อันเป็นการทำไม้ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปของคำเหล่านั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525ได้ให้ความหมายของคำว่า “ตัด” ว่า ทำให้ขาดด้วยของมีคม ทอนคำว่า “ฟัน” หมายถึง เอาของมีคมเช่นดาบฟันลงไป เช่น ฟันคลื่นคือเอาหัวเรือตัดคลื่นไป “กาน” หมายถึงตัดเพื่อให้แตกใหม่ “โค่น”หมายถึง ล้มหรือทำให้ล้มอย่างต้นไม้ล้ม ทลายลง “ลิด” หมายถึงเด็ดหรือตัดเพื่อแต่ง “เลื่อย” หมายถึง ตัดด้วยเลื่อย ความหมายของคำว่า “ทำไม้” ไม่ว่าด้วยวิธี ตัด ฟัน กานโค่นลิด เลื่อย ผ่าถาก ทอน ขุด ชักลาก หรือนำไม้ออกจากป่า ล้วนแต่ทำให้เห็นว่าต้องเป็นการทำให้ต้นไม้ขาดจากลำต้นหรือจากพื้นดินที่ต้นไม้นั้นปลูกอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ที่ห้ามมิให้ทำไม้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และถือเป็นความเป็นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 และ 73 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เพื่อมิให้มีการทำลายป่าและเพื่อรักษาทรัพยากรและความสมดุล ทางธรรมชาติไว้ เมื่อปรากฏว่าต้นยางที่จำเลยตัดมีขนาดเส้นรอบวงของลำต้นตรงที่ถูกตัดถึง 1.80 เมตร และสูง 16 เมตร มีร่องรอยการตัดด้วยเลื่อยเพียง 2 รอย สึกเพียง 1 นิ้ว และยาว 5 นิ้วเท่านั้น ต้นยางดังกล่าวมิได้โค่นล้มหรือตายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงการลงมือกระทำความผิดฐานทำไม้แต่กระทำไปไม่ตลอดเป็นความผิดฐานพยายามทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่ความผิดสำเร็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบ จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น ปรากฏว่า พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนกับรางวัลและปรากฏตามพระราชบัญญัติ ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 7 และ 8 ว่า สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ ทั้งให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไขเพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้วประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาจึงยังไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11,48, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 กับให้ริบเลื่อยโซ่ยนต์ 2 เครื่อง ของกลาง และจ่ายสินบนนำจับและรางวัลแก่ผู้จับ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 11, 73 และ 74 จัตวา ที่ถูกเป็นมาตรา 73 วรรคสอง (1)และ 74 จัตวา พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5(2), 6, 7, 8, และ 9 เรียงกระทงลงโทษฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม หรือข้อจำกัด ปรับ 53,040 บาท ฐานทำไม้จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี และปรับ 63,040บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนไม่เกินสองปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบเลื่อยโซ่ยนต์ของกลางกับให้จำเลยจ่ายสินบนร้อยละสามสิบ จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร และให้จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ต้นไม้ที่ถูกเลื่อยยนต์ ตัดเป็นไม้ยาง ปรากฏร่องรอยของการใช้เลื่อยตัดที่โค่นลำต้นสูงจากพื้นประมาณ 1.30 เมตร 2 รอย แต่ละรอยลึกประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 5 นิ้ว ไม้ยางยังไม่ถูกโค่นลงมาต้นยางที่ถูกตัดมีขนาดเส้นรอบวงของลำต้นตรงที่ถูกตัด 1.80 เมตร และสูง 16 เมตร เห็นว่าพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5) บัญญัติว่า “ทำไม้”หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ ” ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้โดยการตัดฟัน พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มิได้ให้ความหมายพิเศษของคำว่า ตัด ฟัน และการกระทำอื่น ๆอันเป็นการทำไม้ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปของคำเหล่านั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า”ตัด” ว่า ทำให้ขาดด้วยของมีคม ทอน คำว่า “ฟัน” หมายถึงเอาของมีคมเช่นดาบฟันลงไป เช่น ฟันคลื่น คือเอาหัวเรือตัดคลื่นไป”กาน” หมายถึง ตัดเพื่อให้แตกใหม่ “โค่น” หมายถึง ล้มหรือทำให้ล้มอย่างต้นไม้ล้ม ทลายลง “ลิด” หมายถึงเด็ดหรือตัดเพื่อแต่ง “เลื่อย”หมายถึง ตัดด้วยเลื่อย ความหมายของคำว่า “ทำไม้” ไม่ว่าด้วยวิธีตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก หรือนำไม้ออกจากป่า ล้วนแต่ทำให้เห็นว่าต้องเป็นการทำให้ต้นไม้ขาดจากลำต้นหรือจากพื้นดินที่ต้นไม้นั้นปลูกอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ที่ห้ามมิให้ทำไม้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และถือเป็นความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา11 และ 73 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เพื่อมิให้มีการทำลายป่าและเพื่อรักษาทรัพยากรและความสมดุล ทางธรรมชาติไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าต้นยางที่จำเลยตัดมีขนาดเส้นรอบวงของลำต้นตรงที่ถูกตัดถึง 1.80 เมตร 16 เมตร มีร่องรอยการตัดด้วยเลื่อยเพียง 2 รอย ลึกเพียง 1 นิ้ว และยาว 5 นิ้วเท่านั้น ต้นยางดังกล่าวมิได้โค่นล้มหรือตายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงการลงมือกระทำความผิดฐานทำไม้แต่กระทำไปไม่ตลอด เป็นความผิดฐานพยายามทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่ความผิดสำเร็จฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบ จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับตามพระราชบัญญัติ ศุลกากรนั้น ปรากฏว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนกับรางวัลและปรากฏตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8ว่า สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ ทั้งให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข เพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาจึงยังไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5), 11, 73 วรรคสอง (1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 จำคุก 8 เดือน และปรับ 6,000 บาท เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติ ศุลกากรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ปรับ53,040 บาท คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 59,040 บาท ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1