คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เทศบาลประเมินและเรียกเก็บภาษีโรงเรือน. จำเลยรับเงินภาษีโรงเรือนมาแล้วไม่ลงบัญชี. กลับยักยอกเอาไปเสียเช่นนี้. เทศบาลย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ได้.
จำเลยเป็นพนักงานวิสามัญ มีหน้าที่ตรวจควบคุมการเก็บเงินตลาดสดและรับงานด้านภาษีโรงเรือน ขึ้นต่อแผนกคลังของเทศบาลเมือง. จำเลยรับเงินเดือนจากเงินประเภทงบประมาณเงินเดือน. ฉะนั้น การที่จำเลยเก็บหรือรับเงินจากผู้ที่นำเงินมาชำระเป็นค่าภาษีโรงเรือนให้แก่เทศบาลแล้วไม่ลงบัญชี. กลับยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์อย่างอื่นเสีย.ดังนี้ ย่อมเป็นการกระทำในหน้าที่พนักงานผู้เก็บเงินตามหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมาย. เมื่อยักยอกเอาเงินที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ของจำเลย. จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการอันเป็นความผิดต่อหน้าที่ของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลวิสามัญประจำเทศบาลเมืองนครราชสีมา ตำแหน่งพนักงานตรวจแผนกคลัง มีหน้าที่สำรวจและเร่งรัดภาษีโรงเรือนรับเงินค่าภาษีโรงเรือนจากผู้ชำระแล้วนำส่งเทศบาล แจ้งรายการประเมินควบคุมคนเก็บเงินค่าเช่าตลาดและค่าหาบเร่ เป็นกรรมการตรวจโคที่จะฆ่าร่วมกับคณะกรรมการของอำเภอจำเลยรับเงินค่าภาษีโรงเรือนไว้จากผู้มีหน้าที่ชำระ แล้วจำเลยได้ใช้อำนาจหน้าที่ของจำเลยในทางทุจริตกับปฏิบัติหน้าที่โดยทางมิชอบ เบียดบังเอาเงินที่รับไว้นั้นเป็นของจำเลยเสีย โดยทุจริตทำให้เทศบาลเมืองนครราชสีมาได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151, 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย และไม่มีหน้าที่เก็บภาษี จำเลยเพียงแต่เป็นลูกจ้าง ไม่ได้รับเงินเดือนตามงบประมาณในประเภทเงินเดือนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของเทศบาล การเสียภาษีโรงเรือนให้แก่เทศบาลนั้นจะต้องมีการประเมินเสียก่อน คดีนี้เทศบาลยังไม่ได้ประเมิน จำเลยได้รับเงินจากผู้ชำระค่าภาษีไว้เป็นส่วนตัว เพื่อส่งมอบแก่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยต่อไป และจำเลยได้ส่งมอบแล้ว ไม่ได้เบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเลย ทั้งจำเลยกระทำไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วย จำเลยไม่มีความผิด และคดีขาดอายุความฟ้องแล้ว เทศบาลเมืองนครราชสีมามิใช่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและรับเงินค่าภาษีโรงเรือนไว้จากผู้ชำระค่าภาษีแล้วไม่นำส่งลงบัญชีของเทศบาลเมืองนครราชสีมายักยอกเอาไปเสีย เทศบาลเมืองนครราชสีมาได้รับความเสียหายและคดีไม่ขาดอายุความ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตราเดียว ให้จำคุก 5 ปี คำให้การชั้นสอบสวนจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 4,910 บาทแก่เทศบาลเมืองนครราชสีมาด้วย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เทศบาลเมืองนครราชสีมามิใช่ผู้เสียหาย เพราะปลัดเทศบาลหรือสมุหบัญชีซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาจำเลยโดยตรง มิได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยประการหนึ่งและเงินที่โจทก์ฟ้องหาว่ายักยอกเอาไปนั้น ยังเป็นเงินของนายธนัยและนายพูนศุขผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนอยู่และยังมิได้ยื่นประเมินให้เทศบาลเมืองนครราชสีมาเรียกเก็บภาษีเงินนั้นจึงยังไม่ใช่เงินของเทศบาลอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ฟ้องร้องจำเลยนั้น ปรากฏว่าเทศบาลประเมินและเรียกเก็บภาษีโรงเรือนจำเลยรับเงินภาษีโรงเรือนมาแล้วไม่ลงบัญชี กลับยักยอกเอาไปเสียเช่นนี้ เทศบาลย่อมเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจร้องทุกข์ได้และผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีก็ย่อมต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3, 4, 5, 6 หาใช่จะต้องร้องทุกข์ได้เฉพาะสมุหบัญชีหรือปลัดเทศบาลเมืองนครราชสีมา ดังจำเลยฎีกาไม่ที่จำเลยฎีกาว่า ปลัดเทศบาลและสมุหบัญชีเป็นเจ้าพนักงานเกี่ยวกับภาษี ส่วนจำเลยเป็นเพียงพนักงานวิสามัญ รับเงินเดือนงบประเภทใช้สอย ไม่มีหน้าที่เร่งรัดภาษีโรงเรือน จำเลยจึงมิใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานวิสามัญ มีหน้าที่ตรวจควบคุมการเก็บเงินตลาดสดและรับงานด้านภาษีโรงเรือนขึ้นต่อแผนกคลังของเทศบาลเมือง จำเลยรับเงินเดือนจากเงินประเภทงบประมาณเงินเดือน ฉะนั้น การที่จำเลยเก็บหรือรับเงินจากผู้ที่นำเงินมาชำระเป็นค่าภาษีโรงเรือนให้แก่เทศบาลแล้วไม่ลงบัญชี กลับยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์อย่างอื่นเสีย ดังนี้ ย่อมเป็นการกระทำในหน้าที่พนักงานผู้เก็บเงินตามหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งและมอบหมาย เมื่อยักยอกเอาเงินที่ได้รับไว้ตามหน้าที่ของจำเลย จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำการอันเป็นความผิดต่อหน้าที่ของตน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ส่วนฎีกาของจำเลยในข้ออื่น เป็นการฎีกาเถียงข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.

Share