แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองประกอบกิจการโรงงานส่งเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือดร้อนรำคาญอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนตามมาตรา 1337 อีกด้วย แต่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือนร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญระงับสิ้นลง การตั้งโรงงานของจำเลยแม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.โรงงานฯ แต่เป็นการกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเดือนร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง โดยการทุบเหล็ก ทุบอะลูมิเนียม เลื่อยเหล็ก โยนเหล็ก เคาะเหล็ก เสียงดังก้องภายในที่อยู่อาศัยของโจทก์ทั้งสอง โดยเฉพาะการเจียระในเหล็กเสียงจะแหลมมาก ทำให้โจทก์ทั้งสองปวดแก้วหู ประสาทชา หูตึง อีกทั้งจำเลยทั้งสองยังใช้น้ำยาเคมี ทินเนอร์ ล้างสี ผสมสี ฉีดพ่นสี ทำให้เกิดละอองสีฟุ้งกระจายส่งกลิ่นเหม็น ทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นโรคภูมิแพ้ แสบตา แสบจมูก แสบคอ เจ็บหน้าอก เสียงแหบแห้ง สุขภาพอนามัยทรุดโทรม อยู่กินหลับนอนตามปกติสุขไม่ได้ ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ซึ่งไม่สามารถคำนวณเป็นค่าเงินได้ ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองทำโครงหลังคารถยนต์ เต็นท์ผ้าใบ งานเกี่ยวกับเหล็ก อะลูมิเนียมซึ่งก่อให้เกิดเสียงดัง การพ่นสี ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นทำความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง ให้ย้ายโรงงานของจำเลยทั้งสองไปตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหรือสถานที่อื่นตามที่ศาลเห็นสมควร ให้ห่างไกลจากบ้านของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 220,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการกระทำอันเป็นการละเมิด และค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะหยุดกระทำละเมิด
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองประกอบกิจการด้วยความระมัดระวังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีบ้านของเพื่อนบ้านอยู่รายรอบโรงงานของจำเลยทั้งสอง แต่ก็อยู่กันมาอย่างปกติสุข ไม่มีครอบครัวใดได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ยังได้ออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกา รับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 332/7 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2532 ส่วนจำเลยทั้งสองมาเช่าบ้านเลขที่ 332/6 ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ 3 เมตร มีถนนซอยคั่นกลางตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการทำหลังคารถยนต์และเต็นท์ผ้าใบ ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับหลังบ้านที่เช่า เนื้อที่ 2 งานเศษ แล้วสร้างอาคารโรงงานเลขที่ 332/8 เป็นสถานที่ประกอบกิจการเพิ่มเติม สำหรับการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสอง มีการเคาะเหล็ก เชื่อมเหล็กและเจียระไนเหล็ก ส่งเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือนร้อนรำคาญอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้นให้สิ้นไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 อีกด้วย
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานอันเป็นสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข สิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้นให้สิ้นไป ได้แก่ การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็น อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่ากิจการของจำเลยทั้งสองเป็นงานช่างที่ก่อให้เกิดเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นตราบใดที่โรงงานของจำเลยทั้งสองอยู่ใกล้บ้านของโจทก์ทั้งสอง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้น เห็นว่า ศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นลง ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป ส่วนการตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และสมควรที่ต้องย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในฎีกา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐเพราะการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองได้รับการเยียวยาดังกล่าวมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นนั้นชอบแล้ว…”
พิพากษายืน