คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1321/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารที่ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
โจทก์ขุดลำเหมืองจากทางน้ำเพื่อส่งน้ำไปใช้ในการทำนา เมื่อที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ไม่เกินสองร้อยไร่ โจทก์ก็ไม่จำต้องขอและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อนตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ. 2482 มาตรา 7 และเมื่อลำเหมืองนี้ผ่านที่ดินซึ่งจำเลยเข้าจับจอง จำเลยถมเหมืองเสีย แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมเปิดเหมืองให้โจทก์ใช้น้ำได้ ตามปกติ ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่า โจทก์ขุดเหมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีลำเหมืองเป็นวัตถุประสงค์ผิดกฎหมาย เป็นโมฆะ ย่อมฟังไม่ขึ้น
แม้ในตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ปลัดอำเภอผู้ทำสัญญาจะได้บันทึกไว้ด้วยว่าคู่กรณียอมไปอำเภอเพื่อลงสารบบความแพ่งเพื่อเป็นหลักฐานต่อไป ก็มิได้หมายความว่า ต้องไปลงสารบบเสียก่อน สัญญาจึงจะสมบูรณ์และการที่เมื่อไปอำเภอกันแล้วจำเลยเกิดไม่ยอม ปลัดอำเภอจึงจำหน่ายคดีจากสารบบ และบันทีกว่าเปรียบเทียบไม่ตกลงนั้น ก็ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเสียไป

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์มีที่นาประมาณ ๑๖๐ ไร่ แบ่งให้บุตร ๔ คน ซึ่งมีนางฉาบ รวมอยู่ด้วยทำกิน ในการทำนาในที่นี้ โจทก์และบุตรได้จ้างคนขุดลำเหมืองจากลำน้ำบง ซึ่งอยู่ตอนเหนือมาสู่ที่ดินโจทก์ โดยผ่านที่ดินซึ่งต่อมาในภายหลังเป็นของจำเลย เมื่อจำเลยเข้าจับจองที่ดินซึ่งมีลำเหมืองของโจทก์ไหลผ่าน จำเลยจึงถมลำเหมืองเสีย โจทก์จึงไปร้องต่ออำเภอ นายเรียนปลัดอำเภอออกไปตรวจที่พิพาทตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลย แล้วบันทึกเอกสาร จ.๑ มีข้อความตอนต้นเกี่ยวกับการสอบถามคู่กรณี แล้วถึงข้อความสำคัญว่า “เมื่อได้ไกล่เกลี่ยแล้ว ได้ตกลงกันดังนี้ นายเภาตกลงยกที่ดินฝั่งตะวันออกของเหมืองทั้งหมดให้เป็นของนางฉาบ แล้วขอที่ดินนางฉาบ ๕ ไร่ และจะแบ่งน้ำให้นางฉาบ นายหมวก ๑ ส่วน นายเภากับพวก ๒ ส่วน นางฉาบตกลงยกที่ดินให้นางเภา ๕ ไร่ แล้วขอที่ดินฝั่งตะวันออกของเหมืองซึ่งเป็นของนายเภาทั้งหมดเป็นของตน และขอน้ำเหมือง ๑ ใน ๒ ส่วน นายหมวกตกลงตามที่กล่าวข้างบนนี้ ตามความตกลงของนายเภาและนางฉาบ ที่ดินตรงที่นายเภาถมนี้ นายเภอไม่ต้องถมให้
ทั้งสามคนยอมไปอำเภอเพื่อลงสารบบความแพ่ง เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป ฯลฯ ต่อจากนั้นลงลายมือชื่อโจทก์จำเลย นางฉาบ นายเรียนและพยานครั้นต่อมาเมื่อโจทก์จำเลยไปอำเภอแล้วจำเลยเกิดไม่ยอม นายเรียนจึงจำหน่ายคดีจากสารบบและบันทึกว่าเปรียบเทียบไม่ตกลง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ในที่สุดให้จำหน่ายคดีจากสารบบ ถือได้ว่าคู่ความได้ตกลงยกเลิกข้อตกลงต่าง ๆ หมดแล้ว ไม่มีผลบังคับ ข้อตกลงตามเอกสาร จ.๑ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นบันทึกข้อตกลงเมื่อต้นของโจทก์จำเลยเพื่อนำไปสู่การประนีประนอมชั้นอำเภอเท่านั้น พิพากษาฟ้องโจทก์ (ที่ขอให้บังคับให้จำเลยเปิดลำเหมืองตามสัญญายอม)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเอกสาร จ.๑ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วพิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดลำเหมืองให้โจทก์รับน้ำตามสภาพเดิม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ขออนุญาตทำเหมืองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการผิดกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ พ.ศ.๒๔๘๒ บัญญัติว่า ผู้ใดจะทำการชลประทานส่วนบุคคล จะต้องขอและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน เว้นแต่จะได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่เนื้อที่ไม่เกิน ๒๐๐ ไร่ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ขุดลำเหมืองพิพาทมาสู่ที่ดินของโจทก์ซึ่งมีเนื้อที่เพียง ๑๖๐ ไร่ จึงไม่ต้องขอและได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ การขุดลำเหมืองของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ที่จำเลยฎีกาด้วยว่า โจทก์ขุดลำเหมืองพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีลำเหมืองเป็นวัตถุประสงค์ผิดกฎหมายเป็นโมฆะนั้น ก็ตกไปด้วย
ที่จำเลยฎีกาว่า เอกสาร จ.๑ ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่าเอกสารนี้ทำโดยนายเรียนปลัดอำเภอซึ่งออกไปตรวจที่พิพาท ตอนต้นได้บันทึกความประสงค์ของโจทก์จำเลย แล้วจึงใช้ถ้อยคำว่า “เมื่อได้ไกล่เกลี่ยแล้ว ได้ตกลงกันดังนี้” ต่อมาก็ได้ระบุข้อตกลงของโจทก์จำเลยโดยชัดแจ้ง แล้วโจทก์จำเลยได้ลงชื่อต่อหน้านายเรียนและพยาน เอกสารจ.๑ นี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ แล้ว แม้ตอนท้ายสัญญาจะมีข้อความว่า คู่กรณียอมไปอำเภอเพื่อลงสารบบความแพ่งเพื่อเป็นหลักฐานต่อไปก็เห็นได้ชัดว่านายเรียนนัดให้โจทก์จำเลยไปอำเภออีกครั้งเพื่อไปสารบบความแพ่งของอำเภอให้เป็นหลักฐานตามระเบียบราชการเท่านั้น และการที่ไปอำเภอแล้วจำเลยเกิดไม่ยอม นายเรียนจึงจำหน่ายคดีจากสารบบ และบันทึกว่าเปรียบเทียบไม่ตกลงนั้น เป็นความคิดของนายเรียนเอง หาทำให้สัญญายอมซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วเสียไปไม่
ผลที่สุดพิพากษายืน

Share