แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ที่ 921 แก้ไขคำฟ้องโดยจำเลยมิได้ให้การแก้คดีเพิ่มเติม มีผลเพียงว่าจำเลยยอมรับว่ามีมติคณะรัฐมนตรีจริง ส่วนโจทก์ที่ 921 จะมีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีนั้นด้วย เมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการปรับค่าจ้างในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 มีเงื่อนไขว่าเมื่อปรับค่าจ้างแล้วค่าจ้างที่ได้รับต้องไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งจะต้องจัดหารายได้เพิ่มเติมและหรือต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น กรณีจึงยังไม่อาจปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ให้แก่โจทก์ที่ 921 ได้
การที่มีบันทึกข้อตกลงในวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ที่ระบุว่าการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในขณะใด ๆ ให้องค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ มิใช่หมายความว่าเพียงแต่มีบันทึกข้อตกลงนั้นแล้วจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จะต้องปรากฏว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาอย่างต่อเนื่องด้วย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาไม่เคยให้เงินตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาในลักษณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกับครบ 15 ปี ได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาก่อน เงินตอบแทนความชอบ จึงไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย
ความเสียหายเป็นดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ที่ 1191 ล่าช้าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์ที่ 1191 ต้องแสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1191 จะได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ที่ 1191 ไม่ได้แสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าถึงความเสียหายให้เพียงพอ การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จึงชอบแล้ว
การที่จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนงานอื่นของจำเลย แต่ไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย ทั้งที่ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยด้วยกัน เป็นการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดนั้น เป็นการพิจารณาถึงระดับค่าจ้างที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของโจทก์ทั้งหมดกับระดับค่าจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีของพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลย อันเป็นการพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายโดยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 แล้ว
เมื่อสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภากับองค์การค้าของคุรุสภามีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาจนกระทั่งมีสภาพเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแล้ว หากจำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันของจำเลย จำเลยก็สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือจำเลยตกลงกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมได้ หรือลูกจ้างที่เกี่ยวข้องได้ให้ความยินยอมสำหรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยต้องดำเนินการตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับปฏิบัติต่อกันมาโดยตลอดนั้นเป็นการตีความตามมุ่งหมายในการทำข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายโดยชอบ
โจทก์ทั้งหมดฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีแก่โจทก์ทั้งหมด เป็นการกล่างอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 12 เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปรับเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีเงินที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามที่โจทก์ทั้งหมดฟ้องนั้นจึงยังไม่มีสถานะเป็นสินจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 และยังไม่มีสถานะเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 สิทธิเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) แต่เป็นกรณีจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ทั้งหมดซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดทวงถามให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างและเงินบำเหน็จส่วนที่จ่ายไม่ครบเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้ง 1,180 สำนวนนี้ เดิมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีสำหรับโจทก์ที่ 553 ที่ 581 ที่ 587 ที่ 662 ที่ 724 ที่ 741 (ที่ถูกเป็นโจทก์ที่ 740) ที่ 922 ที่ 951 ที่ 960 ที่ 970 ที่ 981 ที่ 1164 และที่ 1193 โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 1193 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย ระหว่างการพิจารณาคดีศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ 553 ที่ 581 ที่ 587 ที่ 662 ที่ 724 ที่ 741 (ที่ถูกเป็นโจทก์ที่ 740) ที่ 922 ที่ 951 ที่ 960 ที่ 970 ที่ 981 ที่ 1164 และที่ 1193 รวม 13 สำนวน ออกจากสารบบความ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะ 1,180 สำนวน นี้
โจทก์ทุกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้งดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนเกิดสิทธิเป็นต้นไปและจ่ายเงินบำเหน็จที่ขาดไปให้แก่โจทก์แต่ละคนที่เกษียณอายุและที่ลาออกพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เกษียณอายุและลาออก ทั้งนี้รายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับ ค่าจ้างอัตราสุดท้าย วันเกษียณอายุ วันลาออก จำนวนปีที่ทำงาน คำขอต่าง ๆ ของโจทก์แต่ละคนปรากฏอยู่ในคำฟ้อง คำขอท้ายฟ้อง ที่แก้ไขคำฟ้อง และเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ศาลแรงงานกลาง เห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ศาลปกครองกลางเห็นว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 48/2554 ลงวันที่ 1 กันยายน 2554 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งปัจจุบันโอนมาอยู่ในสังกัดของจำเลยเป็นส่วนงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย ซึ่งแต่เดิมองค์การค้าของคุรุสภากับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกันและมีการทำบันทึกข้อตกลงกันขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 ระบุว่าเรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปีเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภานั้น การพิจารณาความดีความชอบในขณะใด ๆ ให้องค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ นอกจากนี้แล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภายังได้มีมติครั้งที่ 15/2537 อนุมัติหลักการว่าหากคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องอัตราเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างไร ให้องค์การค้าของคุรุสภาดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาอีก ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย จึงเป็นเรื่องที่จำเลยนายจ้างและโจทก์ทั้งหมดลูกจ้างจะต้องปฏิบัติต่อกันต่อไปโดยไม่มีข้อแม้ ฉะนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 วันที่ 14 มีนาคม 2549 และวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำเลยในฐานะนายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดในฐานะลูกจ้างตามสิทธิที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการของจำเลยพิจารณาปรับค่าจ้างให้เป็นไปตามนั้น จะอ้างว่าองค์การค้าของจำเลยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจและขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงไม่ยอมปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะองค์การค้าของคุรุสภาเคยปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตลอดมาซึ่งถือเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย เมื่อองค์การค้าของคุรุสภาโอนมาอยู่ในสังกัดของจำเลยและมีฐานะเป็นหน่วยงานภายในส่วนหนึ่งของจำเลย จำเลยจึงต้องปรับค่าจ้างตามมติคณะ รัฐมนตรีทั้งสามครั้งตามฟ้อง เมื่อจำเลยไม่ยอมปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีจำเลยจึงต้องรับผิดปรับค่าจ้างและชำระค่าจ้างที่ค้างตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่โจทก์ทุกคนตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนที่ยังทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับ (โดยคิดคำนวณปรับจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับในวันที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับใช้) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 838 โจทก์ที่ 869 ถึงที่ 921 โจทก์ที่ 923 ถึงที่ 937 โจทก์ที่ 947 ถึงที่ 1005 โจทก์ที่ 1117 ถึงที่ 1174 (ยกเว้นโจทก์ที่ 553, 581, 587, 662, 724, 741 (ที่ถูกเป็นโจทก์ที่ 740), 951, 960, 970, 981, 1164, 1193 เนื่องจากโจทก์ที่ยกเว้นนี้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว) (ที่ถูกมีโจทก์ที่ 922 ซึ่งแยกพิจารณาด้วย) ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตลอดมา ขณะที่มติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้ โจทก์เหล่านี้ก็ยังคงเป็นลูกจ้างจำเลยและยังคงเป็นลูกจ้างจำเลยตลอดมา ดังนั้นโจทก์ดังกล่าวจึงมีอำนาจฟ้องและมีสิทธิได้ปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้ง จำเลยจึงต้องรับผิดปรับอัตราค่าจ้างและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้ง และจ่ายค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปและจ่ายค่าจ้างไปตามนั้นจนกว่าโจทก์แต่ละคนจะพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยหรือมีมติคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โจทก์ที่ 939 ที่ 1095 และที่ 1177 ทำงานในผลัดกลางคืนจึงมีสิทธิได้เงินเพิ่มอีกคนละ 30 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ที่ยังคงทำงานเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของจำเลยในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งมีผลบังคับใช้ โจทก์เหล่านั้นสามารถฟ้องจำเลยได้เนื่องจากถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ปรับขึ้นเงินเดือนให้ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งโจทก์แต่ละมีสิทธิที่จะได้รับ สำหรับโจทก์ที่เกษียณอายุและโจทก์ที่ขอลาออกและได้รับอนุญาตให้ลาออกก่อนมติคณะรัฐมนตรีให้ปรับอัตราค่าจ้างมีผลบังคับใช้แต่ละครั้ง โจทก์เหล่านั้นไม่มีสิทธิได้ปรับอัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้น เฉพาะโจทก์ที่ 939 ทำงานผลัดกลาง คืนมีสิทธิได้เงินเพิ่มอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จนถึงวันที่ลาออก (วันที่ 3 กันยายน 2551) การปรับเงินเดือนขึ้นมากหรือน้อยเป็นการพิจารณาความดีความชอบประจำปีและเป็นดุลพินิจของจำเลยชอบที่จะกระทำได้ ไม่มีเหตุที่จะปรับเงินเดือนให้โจทก์ผู้ขอให้ปรับเงินเดือนขึ้นอีกครึ่งขั้น เมื่อจำเลยยังมิได้ปรับค่าจ้างเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรี การคิดคำนวณบำเหน็จจึงยังไม่ถูกต้อง ที่ถูกจำเลยต้องคิดคำนวณบำเหน็จโดยคิดจากอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่มีการปรับตามมติคณะรัฐมนตรีที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ยกเว้นโจทก์ที่ 939 ที่ 1095 และที่ 1177 ที่ทำงานผลัดกลางคืนจำเลยต้องคิดคำนวณบำเหน็จโดยคิดจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่มีการปรับตามมติคณะรัฐมนตรีกับเงินเพิ่มอีก 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ฉะนั้นจำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายเงินในส่วนต่างของบำเหน็จที่จ่ายให้แก่โจทก์ที่เกษียณอายุและลาออกขาดไป เงินบำเหน็จมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี คงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์แต่ละคนไม่ครบเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 ที่ให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปี ได้รับเงินตอบแทนความดีความชอบการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน และมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 นั้น ใช้แก่ลูกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำเลยมิใช่รัฐวิสาหกิจและจำเลยไม่เคยให้เงินตอบแทนความดีความชอบกรณีนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีมาก่อน จึงไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตอบแทนความดีความ ชอบ 300 วัน ให้แก่โจทก์ที่เกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 เห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเพิ่มได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 และมีเงื่อนไขในการปรับขึ้นค่าจ้างอีกหลายประการเช่นเมื่อปรับค่าจ้างแล้วค่าจ้างที่ได้รับต้องไม่เกิน 50,000 บาท รัฐวิสาหกิจจะต้องจัดหารายได้เพิ่มเติมและหรือต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น มติคณะรัฐมนตรีนี้มีเงื่อนไขในการปรับค่าจ้างและการเงินของนายจ้างไม่เหมือนกันกับมติคณะรัฐมนตรี 3 ครั้ง ที่ผ่านมาและต้องมีการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน กรณีจึงยังไม่อาจปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ให้แก่โจทก์ที่ 921 ได้ในทันที การฟ้องของโจทก์ทั้งหมดเป็นการฟ้องให้จำเลยปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยไม่ยอมปรับค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนตามมติคณะรัฐมนตรี หลักการนับอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 เมื่อจำเลยไม่ยอมปรับก็ยังไม่มีอัตราค่าจ้างค้างจ่าย ไม่มีหนี้ค่าจ้างที่ถึงกำหนดชำระ อายุความยังไม่เริ่มนับเพราะไม่ใช่เวลาที่โจทก์ทั้งหมดผู้เป็นลูกจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์ทั้งหมดจึงยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยปรับอัตราค่าจ้าง จ่ายค่าจ้าง จ่ายค่าจ้างค้าง พร้อมดอกเบี้ย จ่ายบำเหน็จแก่โจทก์ที่เกษียณอายุและที่ลาออกในส่วนที่จำเลยจ่ายบำเหน็จขาดไป พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นของโจทก์ทั้งหมดนอกจากนี้ให้ยก รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 838 ที่ 921 ที่ 923 ถึงที่ 1075 ที่ 1090 ถึงที่ 1192 และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 921 อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ที่ 921 แก้ไขคำฟ้องแล้วจำเลยมิได้ให้การแก้คดีเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติและถือว่าจำเลยยอมรับว่าจะต้องปรับอัตราค่าจ้างให้โจทก์ที่ 921 ตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4 จึงไม่มีประเด็นที่ศาลแรงงานกลางต้องวินิจฉัยว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้โจทก์ที่ 921 อีกต่อไป จำเลยจึงต้องปรับค่าจ้างให้โจทก์ที่ 921 เช่นเดียวกับที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ปรับอัตราค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหมดตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสามครั้ง เจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเพื่อให้ปรับอัตราค่าจ้างลูกจ้างอย่างชัดเจนร้อยละ 5 เพียงแต่ให้หน่วยงานไปกำหนดว่าจะปรับให้ร้อยละเท่าใดเท่านั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะไม่ปรับอัตราค่าจ้างให้ลูกจ้างนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในส่วนของโจทก์ที่ 921 ว่า ในส่วนของโจทก์ที่ 921 ขอแก้ไขคำฟ้องของตนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555 โดยขอเพิ่มเติมข้อ 6 ว่าเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจร้อยละ 5 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 (มติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 4) มติคณะรัฐมนตรีระบุว่าเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเพิ่มได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 และมีเงื่อนไขในการปรับขึ้นค่าจ้างอีกหลายประการเช่นเมื่อปรับค่าจ้างแล้วค่าจ้างที่ได้รับต้องไม่เกิน 50,000 บาท รัฐวิสาหกิจจะต้องจัดหารายได้เพิ่มเติมและหรือต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้เพียงพอรายจ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้น มติคณะรัฐมนตรีนี้มีเงื่อนไขในการปรับค่าจ้างและการเงินของนายจ้าง ไม่เหมือนกันกับมติคณะรัฐมนตรี 3 ครั้ง ที่ผ่านมา และต้องมีการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน กรณีจึงยังไม่อาจปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ให้แก่โจทก์ที่ 921 ได้ในทันที ซึ่งถูกต้องตรงกับที่ปรากฏตามสำเนามติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในการปรับอัตราค่าจ้างที่ให้ปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ5 โดยเมื่อมีการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าวแล้วต้องมีอัตราค่าจ้างเดิมรวมกับที่ปรับครั้งนี้ไม่เกิน 50,000 บาท และมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งการที่จำเลยไม่ได้แก้ไขคำให้การในส่วนที่โจทก์ที่ 921 อุทธรณ์นั้น มีผลเพียงว่าจำเลยยอมรับว่ามีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจริง แต่สิทธิของโจทก์ที่ 921 ที่จะได้รับการปรับอัตราค่าจ้างที่ให้ปรับขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะมีอยู่หรือไม่อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้างต้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ที่ 921 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 838 ที่ 923 ถึงที่ 1075 ที่ 1090 ถึงที่ 1192 อุทธรณ์ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปี ให้ได้รับเงินตอบแทนความดีความชอบการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2552 นั้น ให้ใช้แก่ลูกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นสภาพการจ้างโดยปริยายใช้บังคับแก่จำเลยด้วย และต้องปรับเงินเดือนให้โจทก์แต่ละคนเพิ่มเติมอีกคนละครึ่งขั้นเพราะไม่มีระเบียบข้อบังคับใดให้จำเลยปรับเงินเดือนในอัตรานี้ได้ ข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ไม่สามารถใช้บังคับได้เพราะจำเลยไม่มีอำนาจปรับเงินเดือนเพียงครึ่งขั้นนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การค้าของคุรุสภาและองค์การค้าของคุรุสภาได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ต่อมาทั้งสองฝ่ายประชุมและตกลงกันได้จึงทำบันทึกข้อตกลงในวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ซึ่งข้อ 17 ระบุว่าเรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภานั้น การพิจารณาความดีความชอบในขณะใด ๆ ให้องค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาโดยถือหลักเกณฑ์การพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีหรือระเบียบของทางราชการที่กำหนดสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจในขณะนั้น ๆ คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเคยมีมติครั้งที่ 15/2537 วันที่ 10 ตุลาคม 2537 อนุมัติหลักการว่าหากคณะรัฐมนตรีมีมติในเรื่องอัตราเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างไร ให้องค์การค้าของคุรุสภาดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาอีก ซึ่งจำเลยได้ปรับอัตราค่าจ้างเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีมาโดยตลอด การที่จำเลยปรับอัตราค่าจ้างมาโดยตลอดจึงทำให้การปฏิบัติเช่นนั้นเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย มิใช่หมายความว่าเพียงแต่มีบันทึกข้อตกลงในวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 แล้วข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายแต่อย่างใด แต่จะต้องปรากฏว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงมาอย่างต่อเนื่องด้วย เมื่อปรากฏว่าองค์การค้าของคุรุสภาไม่เคยให้เงินตอบแทนความดีความชอบแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาในลักษณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ลูกจ้างและพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติงานช่วงเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปี ให้ได้รับเงินตอบแทนความดีความชอบการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาก่อน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวไม่เป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตอบแทนความดีความชอบ 300 วัน ตามที่ขอแก่โจทก์แต่ละคนจึงชอบแล้ว และในส่วนที่ฟ้องขอให้จำเลยปรับเงินเดือนให้โจทก์แต่ละคนคนละครึ่งขั้นนั้น จำเลยก็ได้ดำเนินการตามข้อบังคับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 อันเป็นอำนาจในทางบริหารของจำเลยซึ่งสอดคล้องกับระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ข้อ 8 ซึ่งกำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งประจำองค์การค้าของคุรุสภาให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ เมื่อการเลื่อนขั้นเงินเดือนมีระเบียบที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งแล้วเช่นนี้ การที่จำเลยปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจึงชอบแล้ว
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1191 ที่ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินล่าช้านั้น เห็นว่า ความเสียหายเป็นดอกเบี้ยสหกรณ์ที่จำเลยจ่ายเงินล่าช้านั้น เป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ที่ 1191 ต้องแสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วถึงพฤติการณ์ที่โจทก์ที่ 1191 จะได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยสหกรณ์ด้วยเหตุที่จำเลยชำระเงินล่าช้า เมื่อโจทก์ที่ 1191 ไม่ได้แสดงให้ปรากฏว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าถึงความเสียหายดังกล่าวให้เพียงพอที่ศาลแรงงานกลางจะรับฟังให้เป็นไปตามที่ฟ้อง การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1191 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ทั้งหมดของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 838 ที่ 923 ถึงที่ 1075 ที่ 1090 ถึงที่ 1192 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจากการปรับอัตราค่าจ้างและจากเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายไม่ครบในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง