คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17549/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แต่จำเลยร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ ร้องขอมิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด อ้างว่าจะขอจัดการทรัพย์และร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้ง ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้เป็นเวลาหลายปี พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวางการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จในวันขายทอดตลาด และไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เมื่อใด กรณีจึงทำให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อไปตามสิทธิที่ปรากฏในคำพิพากษา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่โจทก์ซื้อทรัพย์ได้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยผู้ฎีกายื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังวันใด ถือว่าวันดังกล่าวโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยเพราะไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ มาขัดข้องต่อการได้รับชำระหนี้ของโจทก์อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ให้โจทก์ถึงวันที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่จังหวัดอุดรธานี คือ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคิดบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ถึงวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฎีกา (คำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่จังหวัดอุดรธานี) ซึ่งศาลฎีกาอนุญาตเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ด้วยเหตุว่า จำเลยทั้งสองประวิงคดีมาโดยตลอดนับแต่โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์ โดยการยื่นคำร้องขอจัดการทรัพย์และยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหายไม่อาจบังคับคดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ภาระหนี้ให้โจทก์ถึงวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งเป็นวันที่คดีขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุด คือ วันที่ 28 พฤษภาคม 2551
จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำคัดค้าน
เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ต่อศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คำร้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แล้วพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า คดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2049/2534 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ โดยคดีนี้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,504,631.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 5,355,397.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดแรกชำระวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หากผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12230 และ 12231 ตำบลในเมือง (บ้านเกาะ) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1789 และ1916 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้จนครบถ้วน ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2049/2543 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 757,120.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของเงินจำนวน 696,689.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวด งวดแรกชำระวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หากผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดและให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1789 และ 1916 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองชำระหนี้จนครบถ้วน ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีทั้งสองสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12230 และ 122331 และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1789 และ 1916 เพื่อนำออกขายทอดตลาด แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12230 และ 12231 เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ให้โจทก์ปีละไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท และ 800,000 บาท ตามลำดับ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคัดค้านคำสั่ง ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2538 พิพากษายืน ให้คำยกร้องของจำเลยทั้งสอง โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน2538 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1789 และ1916 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาด แต่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอจัดการทรัพย์และแถลงของดการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์และฎีกา คดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกา โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นขอจัดการทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องจำเลยที่ 2 อุทธรณ์และฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1789 และ 1916 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 21,500,000 บาท และชำระราคาด้วยการหักส่วนได้ใช้แทนจากหนี้ตามคำพิพากษาในสำนวนคดีนี้ และนำหนี้ตามคำพิพากษาในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 2049/2534 ของศาลชั้นต้น มาหักชำระโดยการขอเฉลี่ยทรัพย์แล้วจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และพิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาและต่อมาได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาซึ่งศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลฎีกาที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฎีกา แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน และปรับปรุงบัญชีใหม่ตามข้อทักท้วงของจำเลยทั้งสองโดยคำนวณดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสองสำนวนจนถึงวันที่โจทก์ประมูลซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงได้ ตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินครั้งที่ 1 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2552
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำร้องขอให้พิจารณาว่า โจทก์ควรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเพียงใด เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ โดยเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 1789 และ 1916 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในราคา 21,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2548 โจทก์บังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12230 และ 12231 ออกขายทอดตลาด แต่จำเลยทั้งสองขอเจรจาต่อรองลดยอดหนี้คงเหลือ 1,700,000 บาท พร้อมชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จากนั้นจำเลยทั้งสองฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน อ้างว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้โดยเป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1789 และ 1916 โดยคิดดอกเบี้ยได้เพียงถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 และคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่เป็นกระบวนพิจารณาซ้ำ พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไปนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 แต่โจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ เพราะจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ทำให้มีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์ จำเลยทั้งสองและเจ้าพนักงานบังคับคดีว่ากรณีในคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีสมควรคิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ถึงวันใด ถ้าคิดดอกเบี้ยถึงเพียงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 1,700,000 บาท อีกได้ เพราะราคาทรัพย์จากการขายทอดตลาดคุ้มหนี้แล้ว แต่ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อไปอีก โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจะมีสิทธิได้ในจำนวนใด ย่อมต้องพิจารณาในข้อเท็จจริงว่าวันไหนเป็นวันที่จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น คำฟ้องของจำเลยทั้งสองที่ขอเรียกเงินจำนวน 1,700,000 บาท คืนจากโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับผลของคดีนี้ ว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองถึงเมื่อใด ดังนั้น คำฟ้องในคดีดังกล่าวจึงยังมีเงื่อนไขไม่แน่นอน ไม่ถือว่าสิทธิของจำเลยทั้งสองถูกโต้แย้งอันจะนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับคำฟ้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าวไว้ จึงไม่ชอบและคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีดังกล่าวไม่ชอบเช่นกัน ดังนั้น คำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวจึงหามีผลผูกพันในคดีนี้ไม่ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องและฟ้องอุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยเมื่อใด จึงหามีข้อต้องห้ามเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงเมื่อใด ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคดีอยู่ที่ศาลฎีกาและมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนพร้อมวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปโดยไม่ย้อนสำนวนลงไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยก่อน เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้โจทก์เจ้าหนี้จะเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและพร้อมจะหักหนี้ของโจทก์ส่วนได้ใช้แทน ที่ทำให้โจทก์ไม่ต้องนำเงินค่าซื้อที่ดินมาวางชำระและไม่ต้องรับเงินจากการขายทอดตลาดไป หากมีกรณีดังกล่าวขึ้นต้องถือว่าวันขายทอดตลาดเป็นวันที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น อันทำให้สิทธิได้รับดอกเบี้ยของโจทก์มีเพียงวันที่มีการขายทอดตลาดเท่านั้น ตามนัยคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 5378/2544 แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงแตกต่างจากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุที่จำเลยทั้งสองร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ ร้องขอมิให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดอ้างว่าจะขอจัดการทรัพย์ เมื่อไม่สำเร็จก็ได้ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดหลายครั้งหลายคราว ทำให้คดีที่จำเลยทั้งสองยอมรับจะชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่ชำระ ยอมให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ยังไม่อาจมีการจัดการให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จนแล้วเสร็จได้ อันเป็นเวลาถึง 23 ปี พฤติการณ์ในการดำเนินคดีต่าง ๆ ของจำเลยทั้งสองเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวางการได้รับชำระหนี้ของโจทก์ ด้วยการยื่นคำร้องต่าง ๆ เข้ามาเป็นระยะ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จในวันขายทอดตลาด หากยังมีการร้องคัดค้านด้วยวิธีการต่าง ๆ จากจำเลยทั้งสองอยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซื้อทรัพย์จำนองพิพาทจากการขายทอดตลาด แต่ถูกจำเลยทั้งสองร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ยังไม่อาจได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองและไม่แน่ว่าจะได้รับชำระเมื่อใด กรณีจึงทำให้โจทก์ยังมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยต่อไปตามสิทธิที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ ต่อมาระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ผู้ฎีกายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องที่ ท.216/2551 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฎีกาและศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาให้คู่ความฟังในวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสอง เพราะไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ มาขัดข้องต่อการรับชำระหนี้ของโจทก์อีก โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยคิดจนถึงวันที่มีการอ่านคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาดังกล่าว
พิพากษากลับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน โดยให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 แล้วดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share