คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้การจดทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 10,000,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า สิทธิในการฟ้องคดีให้การสมรสของจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะขาดอายุความ การฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในทำนองชู้สาว และอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนจดทะเบียนสมรสซ้อนตั้งแต่กลางปี 2529 โจทก์ชอบที่จะฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกัน เพราะจำเลยที่ 2 ยืนยันว่ายังไม่มีภริยาและไม่เคยจดทะเบียนสมรสกับใคร เมื่อ 4 ถึง 5 ปี ที่ผ่านมาจำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยทั้งสองอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 2 คน หลังจากจำเลยที่ 1 คลอดบุตรคนแรกจึงทราบว่าจำเลยที่ 2 มีภริยาและบุตรแล้ว จำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 ไปแสดงตนโดยเปิดเผยกับโจทก์และบุคคลทั่วไปว่าจำเลยที่ 1 เป็นภริยาอีกคน จำเลยที่ 1 ขอขมาและแสดงกริยาอาการนอบน้อมต่อโจทก์ในฐานะภริยาหลวงซึ่งโจทก์ยอมรับและให้อภัย การกระทำของโจทก์เป็นการแสดงโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ให้อภัยจำเลยทั้งสอง ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 2 อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ฉันภริยา ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกมาสูงเกินไป หากมีความเสียหายค่าทดแทนไม่เกิน 100,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองที่จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรี ตกเป็นโมฆะ ให้แจ้งไปยังนายทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรี เพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรสของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทน 300,000 บาท แก่โจทก์ สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นในชั้นอุทธรณ์นั้น ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ แต่ค่าขึ้นศาลเฉพาะเท่าที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่งงานจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2516 มีบุตรด้วยกัน 4 คน ต่อมาจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2526 และจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 มีบุตรด้วยกัน 2 คน หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้การสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองที่ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2527 ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองราชบุรี ตกเป็นโมฆะ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีประเด็นเฉพาะเรื่องค่าทดแทนสู่ศาลฎีกา คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับเฉพาะจำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ ในชั้นฎีกาจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาด้วยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 นอกจากนั้นที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาด้วยว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ดังนั้นแม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) จึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share