คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดหรือจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกจำนวน 13 ข้อ แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์สามารถเจรจาต่อรองขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้ แต่ก็เป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน ข้อสัญญาส่วนใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญยังคงเดิมหรือเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ฝ่ายที่นำสัญญาดังกล่าวมาใช้ยืนยันว่าจะต้องมีข้อสัญญาเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญาด้วย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะที่จะเลือกได้เพียงว่าจะเข้าทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น และสัญญาดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน ดังนั้น สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามนัยแห่งมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกข้อ 3 ระบุว่า “วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ” แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ข้อกำหนดสัญญาบอกรับสมาชิกข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญายูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนให้บริการจำหน่ายสัญญาณยูบีซี ประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนด 10 ปี มิใช่เป็นการกระทำละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 1 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งสัญญาณยูบีซีระบบดีเอสทีวีและระบบซีเอทีวีผ่านอุปกรณ์เครือข่ายรับสัญญาณที่โจทก์ติดตั้งไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ชำระเงิน 300,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 9,000,000 บาท และเดือนละ 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งสัญญาณยูบีซีหรือชำระเงิน 300,000,000 บาท เสร็จ และให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 150,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 40,472,837.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่รับ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 1,662,668.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 คำขออื่นของจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 2,195,980.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทสยามภัณฑ์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เดิมจำเลยที่ 1 ชื่อบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่วนจำเลยที่ 2 เดิมชื่อบริษัทไทยเคเบิ้ลวิชั่น จำกัด และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อ 3 ครั้ง ครั้งแรกเปลี่ยนเป็นบริษัทยูนิเวอร์แซล เคเบิ้ลทีวี เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) ครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นบริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) และครั้งสุดท้ายเปลี่ยนเป็นชื่อตามฟ้อง ปัจจุบันจำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททรู วิชั่น เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ในนามบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ในนามบริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532 และต่ออายุสัญญาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 ตามสำเนาต้นฉบับสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกและสำเนาต้นฉบับสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองและองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยร่วมกันแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกเพื่อให้จำเลยทั้งสองมีการบริหาร การใช้ทรัพยากร การลงทุนและการให้บริการแก่สมาชิกร่วมกัน ตามสำเนาต้นฉบับสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้บริการส่งสัญญาณยูบีซีระบบดีเอสทีวีซึ่งลูกค้าต้องติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณระบบดีเอสทีวีจากจำเลยที่ 1 และเสียค่าบริการรายเดือนให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งสัญญาณยูบีซีระบบซีเอทีวีซึ่งลูกค้าต้องติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณระบบซีเอทีวีจากจำเลยที่ 2 และเสียค่าบริการรายเดือนให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542 บริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ทำคำเสนอแต่งตั้งโจทก์ในนามบริษัทสยามภัณฑ์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งยูบีซีเฉพาะสมาชิกประเภทโครงการทั่วประเทศโดยระบบดิจิตอล ดีเอสทีวี และโจทก์สนองรับด้วยการตกลง ตามหนังสือเรื่องการให้บริการยูบีซีประเภทโครงการ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสัญญาณยูบีซีประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ ตามสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายสัญญาณยูบีซีประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ (กรณีพิเศษ) โจทก์สามารถหาลูกค้าประเภทโครงการได้ 92 โครงการ และทำสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ต่อมาจำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกทั้ง 92 โครงการ ตามหนังสือเรื่อง แจ้งบอกเลิกสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก โจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองไม่ฎีกา คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อกำหนดสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ข้อ 3.3.เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ขณะโจทก์ทำสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก โจทก์เข้าใจข้อกำหนด ข้อ 3. ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาผูกพันตามสัญญาดังกล่าวต่อเนื่องตลอดไปจนกว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2557 โจทก์จึงตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 เพราะแต่ละโครงการโจทก์ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยไม่ทราบว่าเป็นข้อสัญญาที่บอกเลิกได้แม้ไม่ได้กระทำผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่กำหนดสาเหตุแห่งการบอกเลิกทำให้ไม่มีความเท่าเทียมกัน จึงเป็นช่องทางให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาโดยโจทก์ไม่ได้ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดข้อตกลงตามสัญญาจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญานอกจากโจทก์ยินยอมหรือโจทก์ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาดังกล่าวเพราะต้องการกำไรเพิ่มขึ้นและประสงค์จะดำเนินการโครงการเอง ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร หากพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสี่ และมาตรา 10 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาบอกรับเป็นสมาชิก เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดหรือจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า ตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก (ประเภทอาคาร แบบเหมาจ่าย) จำนวน 13 ข้อ แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์สามารถเจรจาต่อรองขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้ แต่ก็เป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน ข้อสัญญาส่วนใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญยังคงเดิมหรือเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ฝ่ายที่นำสัญญาดังกล่าวมาใช้ยืนยันว่าจะต้องมีข้อสัญญาเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญาด้วย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะที่จะเลือกได้เพียงว่าจะเข้าทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น และสัญญาดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน ดังนั้น สัญญาบอกรับเป็นสมาชิก จึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามนัยแห่งมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ข้อ 3. ระบุว่า “วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ” แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาบอกรับเป็นสมาชิก เป็นสัญญาต่างตอบแทนนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นฟ้องคดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามที่วินิจฉัยดังกล่าวข้อกำหนดสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สองว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกระทำละเมิด 2 ประเด็น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาบอกรับสมาชิกโดยชอบไม่ได้กระทำฝ่าฝืนละเมิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพียงประเด็นเดียว ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์เป็นตัวแทนการให้บริการสัญญาณยูบีซีของจำเลยทั้งสองโครงการตามสัญญาการบอกรับเป็นสมาชิก โดยโจทก์ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญา แต่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาและรับสัญญาณยูบีซีที่โจทก์ให้บริการ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่อาจบอกเลิกสัญญาได้เป็นการทำละเมิดให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า “…สัญญาการบอกรับเป็นสมาชิกทั้ง 92 สัญญา กำหนดให้มีระยะเวลาของสัญญาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด จึงเป็นสัญญาที่สามารถบอกเลิกสัญญากันได้แม้ไม่มีการผิดสัญญา… การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามข้อกำหนด 3.1 จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบ…การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการผิดสัญญาและไม่เป็นละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย…” และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่สามว่า โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายหรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ลักลอบส่งสัญญาณยูบีซี 8 ช่องรายการ ไปที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องแย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกโครงการแฟลตการเคหะดินแดงอย่างไร แล้วโจทก์ผิดสัญญากรณีเชื่อมสัญญาณรายการในโครงการแฟลตการเคหะไปให้บริการแก่ผู้พักอาศัยที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 7 (3) ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่อาจพิจารณาพิพากษาว่า โจทก์ประพฤติผิดสัญญาตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก รวมถึงกระทำละเมิดจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ศาลแพ่ง โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหาย 66,282 บาท และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 คดีขาดอายุความละเมิดหรือไม่ เป็นคำวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมาย การส่งสัญญาณยูบีซีไปที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เป็นการที่โจทก์ทดลองทำโครงการและฝ่ายจำเลยที่ 1 ยินยอม แต่ฝ่ายตรวจสอบจำเลยที่ 1 ไม่ทราบและไปแจ้งความไว้ หลังจากนั้น 2 ปี โจทก์บอกเลิกสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก และไม่ได้อ้างว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหาย ต่อมาเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองจึงฟ้องแย้งแก้เกี้ยวและอ้างรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นพยาน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เชื่อมสัญญาณยูบีซีไปอาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เป็นการประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 1 มีอายุความ 1 ปี ขัดแย้งกับที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 1 บรรยายฟ้องแย้งเป็นการประพฤติผิดสัญญาตัวแทนซึ่งมีอายุความเรียกร้องค่าเสียหาย 10 ปีนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญาณยูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อหาประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามที่โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ส่วนการที่โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์ โจทก์มีนายวิชิต กรรมการของโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ดำเนินการได้ลอยๆ แต่จำเลยที่ 1 กลับนำสืบว่าโจทก์ลักลอบต่อสัญญาณ โดยจำเลยที่ 1 มีสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมายืนยัน พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนให้บริการจำหน่ายสัญญาณยูบีซี ประเภทโครงการและหน่วยราชการ (กรณีพิเศษ) และจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนด 10 ปี มิใช่เป็นการกระทำละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 1 ปี ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพียงใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อที่สี่ว่า โจทก์ค้างชำระค่าบริการตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกโดยอาศัยสัญญาข้อ 3. 3.1 ซึ่งเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและการที่จำเลยที่ 1 ระงับการส่งสัญญาณยูบีซีตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนละเมิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และหรือเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งค่าบริการค้างชำระ 2,195,980.19 บาท และค่าบริการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งมีจำนวนมากกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจริง โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าบริการรายเดือนเฉพาะที่มีการส่งสัญญาณยูบีซีครบเดือน ตามใบแจ้งค่าบริการ รวมเป็นเงิน 1,662,668.10 บาท นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งผลของการบอกเลิกทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจฟ้องแย้งให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาทั้งสองดังกล่าวชำระค่าบริการรายเดือนภายในระยะเวลาการบอกเลิกสัญญา และการบอกเลิกสัญญาทั้งสองโดยที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ระงับสัญญาณยูบีซีภายในระยะเวลาบอกเลิกสัญญา จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ค้างชำระค่าบริการและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์ค้างชำระค่าบริการตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกของงวดเดือนกันยายน 2547 ถึงวันปิดสัญญาณ 75 โครงการเป็นเงิน 2,195,980.19 บาท ส่วนโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ไม่เคยค้างชำระค่าบริการเดือนกันยายน 2547 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่าโจทก์ค้างชำระค่าบริการงวดเดือนกันยายน 2547 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2547 หรือไม่ เท่านั้น ไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าบริการค้างชำระด้วยเหตุต่างๆ ตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์ค้างชำระค่าบริการตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกตามที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง 2,195,980.19 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกต่อไปตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ ค่าขาดประโยชน์แทนการปฏิบัติตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกมีมากน้อยเพียงใดและจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก และระงับสัญญาณยูบีซีทั้ง 92 โครงการฝ่าฝืนละเมิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และหรือจงใจทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องส่งสัญญาณยูบีซีให้แก่โจทก์ หากไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาให้ชำระเงิน 300,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และโจทก์ขาดรายได้จากการหยุดส่งสัญญาณยูบีซีของจำเลยที่ 1 ทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าเดือนละ 3,000,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 9,000,000 บาท รวมทั้งค่าเสียหายต่อไปเดือนละ 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากนี้โจทก์เสียหายจากการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ วางระบบเครือข่ายและติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณเพื่อกระจายสัญญาณให้แก่ลูกค้า 150,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จสิ้นนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาข้อแรกแล้วว่า ข้อกำหนดสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาบอกรับสมาชิกโดยชอบย่อมไม่เป็นการผิดสัญญา และวินิจฉัยในปัญหาข้อที่สองแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาตามฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share