คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8256/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยซึ่งคู่ความรับกันแล้วว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 378 ของจำเลยออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 15 ของโจทก์คือที่ดินพิพาททั้งแปลง การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่าที่ดินแปลงที่สามคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่โจทก์นำชี้ และเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 196 และ 202 แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างการยื่นฎีกานั้นจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 การที่โจทก์ขอถือเอาอุทธรณ์ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เป็นฎีกาที่มิชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15, 196 และ 202 รวม 3 แปลง โดยที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวอยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน เมื่อวันที่8 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานที่ดินขอเปลี่ยนแปลงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เดิมเป็นน.ส.3 ก. ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านการรังวัดของโจทก์อ้างว่าจำเลยได้ทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส.3 ของโจทก์เลขที่ 15และ 202 ดังกล่าวบางส่วนรวมประมาณ 10 ไร่ ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และหยุดการรบกวนการครอบครองของโจทก์กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 5 เป็นของนายสุภกิจ แต่นายศุภกิจมิได้ครอบครองทำประโยชน์คงปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่า นางวัลภาเข้าครอบครองปี 2519 นางวัลภาได้ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยมีนายสุภกิจรับรองแนวเขต ทางราชการจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 378 ให้แก่นางวัลภา ปรากฎว่าที่ดินแปลงนี้ทับกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 ของโจทก์ต่อมาในปี 2520 จำเลยได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 378 จากนางวัลภา และนางวัลภาได้มอบอำนาจที่ดินให้จำเลยครอบครอง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้เพราะทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี จำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาและนางวัลภาได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2530 จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 นายสุภกิจเมื่อวันที่ 19ตุลาคม 2524 โดยทราบดีว่าจำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวอยู่แต่ไม่ฟ้องเอาที่ดินคืนภายในกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยมิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 202 ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 196 เป็นที่ดินอยู่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 378 บางส่วนซึ่งจำเลยได้เข้าครอบครองมาตั้งแต่ปี 2524 จึงได้สิทธิในที่ดินแล้วขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยอ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 และทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 378 ให้จำเลยนั้นขัดต่อข้อเท็จจริง เพราะจำนวนเนื้อที่และเจ้าของที่ดินข้างเคียงแตกต่างกัน โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ตลอดมาจึงไม่ขาดสิทธิครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้การไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 378ของจำเลยอยู่ในที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15ของโจทก์ แต่จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ภายหลังทับที่ของโจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้วและไม่มีประเด็นอีกต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่าที่ดินของโจทก์แปลงที่สาม ซึ่งหมายถึงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 นี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าว แล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 โจทก์ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เดิม เป็น น.ส.3 ก. ปรากฎว่าจำเลยได้คัดค้านการรังวัดของโจทก์ อ้างว่าจำเลยได้ทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 15 ของโจทก์ดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่สามารถทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ได้และได้รับความเสียหายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 เป็นของนายสุภกิจ แต่นางวัลลภาเข้าครอบครองและได้ขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่378 ให้ ประเด็นมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยดังนั้น เมื่อคู่ความรับกันแล้วว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 378 ของจำเลยออกทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 คือที่พิพาททั้งแปลง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นวินิจฉัยว่า ที่ดินแปลงที่สามคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 15 ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่โจทก์นำชี้และเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ติดที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 196 และ 202แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยนั้น ซึ่งเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวต้องฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ก็เห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวน และเห็นว่าเมื่อจำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาแล้ว จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์โดยทางทิศเหนือปลูกต้นยูคาลิปตัส ส่วนด้านทิศใต้จำเลยได้ขุดทรายขาย โดยโจทก์นอกจากขุดบ่อเพื่อทิ้งส่าเหล้าแล้วก็มิได้ทำประโยชน์อื่นใดในที่ดินอีก ในเฉพาะส่วนที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ โจทก์ปล่อยว่างไว้แสดงว่ามิได้เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินส่วนนี้ การที่จำเลยตักทรายในที่ดินส่วนนี้ขายก็เป็นการหาประโยชน์จากที่ดินอันเป็นการครอบครองทำประโยชน์เช่นเดียวกัน และจำเลยก็มาดูแลเช่นนายมานพไปพบจำเลยมาดูต้นไม้ในที่ดินพิพาทการที่ที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้มีพื้นที่ต่ำกว่าที่ดินแปลงข้างเคียงและเป็นหลุมเป็นบ่อก็เพราะขุดทรายในบริเวณดังกล่าวไปขายนั่นเอง รับฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ซื้อในปี 2520 ตลอดมา ที่ดินพิพาทแปลงนี้เป็นของจำเลย ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไปสำหรับข้อที่โจทก์ขอถือเอาอุทธรณ์ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างการยื่นฎีกานั้น จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share