คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 25 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วจึงไปขอถ่ายสำเนาคำพิพากษา แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงไม่ใช่กรณีมีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เวลา 15.35 นาฬิกา เจ้าพนักงานศาลก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามระบบงานที่เป็นอยู่ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในแต่ละวันมีคู่ความหรือประชาชนไปติดต่อกับเจ้าพนักงานศาลเป็นจำนวนมากไม่ได้มีเฉพาะจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งทนายจำเลยก็น่าจะรู้ดี ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานศาลนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อศาลและศาลมีคำสั่งในวันรุ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดระบุว่าศาลต้องมีคำสั่งคำร้องในวันที่คู่ความยื่นคำร้องแต่อย่างใดด้วยสาเหตุที่ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์มาจากจำเลยและทนายจำเลยปล่อยปละละเลยไม่ได้เอาใจใส่รีบยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารเสียแต่เนิ่น และเมื่อยื่นแล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ประการใด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันถัดจากวันครบกำหนดอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 231 (77) ซอยสารภี 2 ถนนอิสรภาพ (ลาดหญ้า) แขวงสมเด็จเจ้าพระยาเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก15 วัน โดยอ้างว่าจำเลยยังมิได้รับสำเนาคำพิพากษา สำเนาคำเบิกความพยานเพื่อเขียนอุทธรณ์ และขณะนี้จำเลยอยู่ในระหว่างหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานศาลถ่ายสำเนาคำพิพากษาและคำเบิกความให้แก่จำเลยล่าช้า น่าจะถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 แต่ทนายจำเลยไปยื่นคำแถลงขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาคำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากและคำเบิกความตัวจำเลยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปถึง 25 วัน จึงไปขอถ่าย ที่ด้านล่างของคำแถลงดังกล่าวมีข้อความประทับไว้ว่า “ถ่ายเอกสาร 12 พ.ย. 2542″น่าจะมีความหมายว่าเจ้าพนักงานศาลจะถ่ายเอกสารที่ทนายจำเลยขอถ่ายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 ดังจะเห็นได้จากที่โจทก์ยื่นคำแถลงขอถ่ายสำเนาคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 และมีข้อความประทับที่ด้านล่างของคำแถลงว่า “ถ่ายเอกสาร 2 พ.ย. 2542″ ต่อมาในวันที่ 3พฤศจิกายน 2542 โจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่โจทก์ขอถ่าย แม้ตามสำเนาใบรับเอกสารของศูนย์ถ่ายเอกสารของศาลชั้นต้นจะระบุว่ารับเอกสารวันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 ก็อาจเป็นการนัดเผื่อไว้เพื่อเมื่อถึงวันนัดผู้ที่ขอถ่ายจะต้องได้รับเอกสารที่ขอถ่ายไว้ได้อย่างแน่นอน ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้ไปติดต่อสอบถามเจ้าพนักงานศาลผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารว่าถ่ายเอกสารให้จำเลยแล้วหรือไม่เพียงแต่อ้างว่าเจ้าพนักงานศาลให้มารับเอกสารที่ขอถ่ายในวันที่ 17 พฤศจิกายน2542 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหตุที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่กรณีมีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยตามกฎหมาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน2542 การที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้ว่าศาลต้องมีคำสั่งคำร้องในวันที่คู่ความยื่นคำร้อง โดยเฉพาะกรณีของจำเลยย่อมเห็นได้ว่า ทนายจำเลยยื่นคำร้องในเวลา 15.35 นาฬิกา ซึ่งเจ้าพนักงานศาลก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปตามระบบงานที่เป็นอยู่เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่าในแต่ละวันมีคู่ความหรือประชาชนไปติดต่อกับเจ้าพนักงานศาลเป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีเฉพาะจำเลยเพียงคนเดียวซึ่งทนายจำเลยก็น่าจะรู้ดี การที่เจ้าพนักงานศาลนำคำร้องเสนอต่อศาลชั้นต้นในวันรุ่งขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนที่อ้างว่าทำให้จำเลยเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ก็ย่อมเห็นได้ว่าสาเหตุมาจากจำเลยและทนายจำเลยที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้เอาใจใส่รีบยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารเสียแต่เนิ่นและเมื่อยื่นล่าช้าแล้วก็ไม่ได้เอาใจใส่ประการใดที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share