แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กันในทางแพ่งเฉพาะที่เกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 352 และ 341 ตามลำดับ อันเป็นความผิดอันยอมความได้ หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงสมบูรณ์ใช้บังคับต่อกันได้ หาเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลย ทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 420/7 ถนนหนองกะจะ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 167/62 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระจำนองหรือภาระติดพันอื่นใดเหนืออสังหาริมทรัพย์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ของจำเลย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจมาควบคุมจำเลยไปที่สถานีตำรวจเพื่อจะดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ข่มขู่จำเลยว่าหากไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้องจะติดคุกเป็นร้อย ๆ ปี จำเลยกลัวจึงทำหนังสือจะซื้อจะขายโดยถูกข่มขู่ โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชีและการเงินโครงการ วาเลย์ เดอ ชาเลย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2539 โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยจำเลยตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 6910 ให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาท โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ในวันที่ 14 มกราคม 2540 และจำเลยตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 20932 ให้แก่โจทก์ในราคา 600,000 บาท โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ไปจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามที่โจทก์นำสืบว่า มูลเหตุในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย เนื่องมาจากจำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ลักทรัพย์นายจ้าง ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ของโจทก์ และขณะที่ทำหนังสือสัญญาโจทก์ยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยและบิดามารดาจำเลยขอร้องไม่ให้แจ้งความร้องทุกข์ โดยยินยอมจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งทั้งหมดให้ จำเลยจึงทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว ให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งโจทก์เองก็ยินยอม ครั้นเมื่อจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามกำหนดในหนังสือสัญญาโจทก์จึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ลักทรัพย์นายจ้าง ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ของโจทก์ จนกระทั่งพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา แต่ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่จำเลยได้ทำให้แก่โจทก์ไว้ ฉบับแรก มีข้อความว่า “การขายที่ดินในครั้งนี้ผู้ขายได้ตกลงโอนขายให้กับผู้ซื้อเพื่อเป็นการชำระหนี้ในส่วนทางแพ่งที่ผู้ขายได้ทำการยักยอกฉ้อโกงทรัพย์สินของบริษัทผู้ซื้อไปเป็นจำนวนเงิน 1,700,000 บาท ผู้ขายจึงตกลงจะโอนขาย ที่ดินและบ้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีราคาชำระหนี้ในเฉพาะส่วนทางแพ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นจำนวนเงิน 220,000 บาท โดยให้ถือว่าผู้ขายได้รับเงินดังกล่าวไปตามราคาที่ดินแล้ว ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ 180,000 บาท ให้ชำระกันโดยผู้ซื้อไปไถ่ถอนชำระหนี้จำนองให้กับธนาคารในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ส่วนจำนวนเงินที่เหลือบริษัทผู้ซื้อจะได้ไปเรียกร้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กระทำผิดต่อไป)” และตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับ ที่สอง ก็มีข้อความว่า “การขายที่ดินในครั้งนี้ผู้ขายได้ตกลงโอนขายให้กับผู้ซื้อเพื่อเป็นการชำระหนี้ในส่วนทางแพ่งที่ ผู้ขายได้ทำการยักยอกฉ้อโกงทรัพย์สินของบริษัทผู้ซื้อไปเป็นจำนวนเงิน 1,700,000 บาท ผู้จะขายจึงตกลงจะโอนขาย ที่ดินและบ้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีราคาชำระหนี้ในเฉพาะส่วนทางแพ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นจำนวน 150,000 บาท โดยให้ถือว่าผู้ขายได้รับเงินดังกล่าวไปตามราคาที่ดินแล้ว ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ 450,000 บาท ให้ชำระกันโดยผู้ซื้อไปไถ่ถอนชำระหนี้จำนองให้กับธนาคารในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ส่วนจำนวนที่เหลือบริษัทผู้ซื้อจะได้ไปเรียกร้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กระทำผิดต่อไป” ข้อความในหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กันในทางแพ่งเฉพาะที่ เกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และมาตรา 341 ตามลำดับ อันเป็นความผิดอันยอมความได้ หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงสมบูรณ์ใช้บังคับต่อกันได้หาเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามกำหนดในหนังสือสัญญา โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 42 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 420/7 และที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 17 6/10 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 167/62 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ