คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรของนาย ม. คนสัญชาติญวนกับนาง บ. คนสัญชาติไทย นาย ม. กับนาง บ. ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) กรณีจะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 จะต้องปรากฏว่าบิดาของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนาย ม. มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จึงนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมาปรับกับกรณีของโจทก์ไม่ได้ การที่บุคคลใดจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การจดแจ้งว่าบุคคลใดมีสัญชาติไทยนั้น เป็นวิธีการทางทะเบียนที่ทางฝ่ายปกครองจัดทำขึ้น เมื่อโจทก์มีสัญชาติไทยอยู่แล้ว แต่กลับถูกจดแจ้งทางทะเบียนว่ามีสัญชาติอื่น ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตลอดมาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทุกคนเป็นคนสัญชาติไทยให้จำเลยร่วมกันถอนชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ จำเลยให้การว่าโจทก์มิได้สัญชาติไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 162-164 ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายมิน ตรินคนสัญชาติญวนได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและสมรสกับนางบุญมี แสงจันทร์คนสัญชาติไทยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันคือโจทก์ทั้งเจ็ดโจทก์ทุกคนเกิดในราชอาณาจักรไทย และเกิดก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ใช้บังคับ เมื่อปี พ.ศ. 2514เจ้าหน้าที่สำนักกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี ได้ใส่ชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 162-164 ถนนเขื่อนธานีตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน มิใช่สัญชาติไทยดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาตามประเด็นข้อแรกที่ว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337เป็นกฎหมายพิเศษมีเจตนารมณ์มุ่งหมายเพื่อป้องกันรักษาความมั่นคงของประเทศมิได้ประสงค์ที่จะให้บุคคลตามประกาศดังกล่าวมีสัญชาติไทยอีกต่อไป ดังนั้นคำว่า “บิดา” จึงต้องเป็นบิดาตามความเป็นจริงโดยไม่คำนึงว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ เมื่อนายมิน ตริน บิดาของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนญวนอพยพสัญชาติญวนและเกิดนอกราชอาณาจักรได้หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายคนเข้าเมือง โจทก์ทั้งเจ็ดก็ต้องถูกเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเกิดในราชอาณาจักรไทย เป็นบุตรของนายมิน ตริน คนสัญชาติญวนกับนางบุญมี แสงจันทร์ คนสัญชาติไทย นายมิน ตริน กับนางบุญมี แสงจันทร์ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3)ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าเนื่องจากบิดาโจทก์เป็นคนญวนอพยพ มีสัญชาติญวน โจทก์ทั้งเจ็ดจึงต้องถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติยกเว้นพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปนั้นเห็นว่า กรณีที่จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่จำเลยอ้างนั้น จะต้องปรากฏว่าบิดาของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายมิน ตริน มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งเจ็ดเสียแล้ว จึงนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337มาปรับกับกรณีของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสัญชาติไทย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามประเด็นข้อสองที่ว่า จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการที่ปรากฏชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดในทะเบียนบ้านญวนอพยพเพราะนายมิน ตริน เป็นผู้แจ้งต่อสำนักกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งโจทก์บางคนก็ได้ยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัว ถ้าหากโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มาแจ้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลใดเป็นคนญวนอพยพ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าหลักฐานในทะเบียนบ้านญวนอพยพและคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวดังกล่าวไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่อย่างใดเห็นว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ความจากนางบุญมี มารดาโจทก์ทั้งเจ็ดว่าเดิมโจทก์ทั้งเจ็ดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 160-164 ถนนเขื่อนธานีตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2519เจ้าหน้าที่จากสำนักกิจการญวนอพยพจังหวัดอุบลราชธานีได้ไปบอกนางบุญมีว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนญวนอพยพและขอทะเบียนบ้านของโจทก์ไปจากนางบุญมี แล้วนำชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไปลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพนางบุญมีกับโจทก์เคยไปขอให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวถอนชื่อโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมทั้งคำให้การของจำเลยทั้งสองเองก็อ้างว่าโจทก์ทั้งเจ็ดได้สัญชาติญวนซึ่งเป็นสัญชาติของบิดาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ กรณีถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามประเด็นข้อสุดท้ายที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีของโจทก์ทั้งเจ็ดขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ทั้งเจ็ดนำคดีมาฟ้องเมื่อล่วงเลยเวลากว่า 10 ปีแล้ว เห็นว่าการที่บุคคลใดจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่การจดแจ้งว่าบุคคลใดมีสัญชาติไทยนั้น เป็นวิธีการทางทะเบียนที่ทางฝ่ายปกครองจัดทำขึ้นเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดมีสัญชาติไทยอยู่แล้ว แต่กลับถูกจดแจ้งทางทะเบียนว่ามีสัญชาติอื่น ถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกโต้แย้งสิทธิว่าไม่ได้เป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตลอดมา ฟ้องของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share