คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 763/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดหางาน แต่จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของผู้จัดการสำนักงานเอส.ที.เอ็ม. ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดหางานได้แล้ว ดังนี้การที่จำเลยจัดหางาน จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มาตรา 7,27 จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของผู้จัดการสำนักงานเอส.ที.เอ็ม.ซึ่งได้รับอนุญาตให้จัดหางานได้ แต่จำเลยกลับโฆษณาจัดหางานแก่ประชาชนทั่วไปในนามของบริษัท อ. จนผู้เสียหายหลงเชื่อไปสมัครงานกับจำเลย จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแล้ว ถึงกำหนดผู้เสียหายไม่ได้ไปทำงาน จำเลยปิดบริษัทและหลบหนีไป จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,341, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มาตรา 7, 27 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 จำคุก 5 ปี พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ปรับ 900 บาทรวมจำคุก 5 ปี ปรับ 900 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 600 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาวกัลยา ไทยวงษ์ เจ้าหน้าที่กองแรงงานสัมพันธ์ กรมแรงงานกระทรวงมหาดไทย เป็นพยานเบิกความว่า การที่จะจัดตั้งสำนักงานหาคนงานไปทำงานในต่างประเทศและภายในประเทศ จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางหรือนายทะเบียนจัดหางานประจำจังหวัดเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ที่ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการจัดหางานภายในเขตท้องที่ที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่กรณีที่มีงานในเขตท้องที่นั้น แต่ไม่สามารถหาคนงานในท้องที่นั้นได้ก็อาจเอาคนงานในอีกท้องที่หนึ่งได้สำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม. ของนายบุญส่ง สุดประเสริฐได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานประจำจังหวัดขอนแก่นพยานตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่าบริษัทเอส.ที.เอ็ม.สแตนดาร์ดไทยแมนเพาเวอร์ จำกัด ได้รับอนุญาตให้จัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางหรือนายทะเบียนจัดหางานประจำจังหวัดใดจำเลยไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานนายประกาศ ถีมานนท์ ผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานได้ตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฏบริษัทเอส.ที.เอ็ม. สแตนดาร์ดไทยแมนเพาเวอร์ จำกัด ในทะเบียนนิติบุคคลและทะเบียนพาณิชย์แต่อย่างใด ตามหนังสือของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วน – บริษัทกลาง กองทะเบียนธุรกิจกรมทะเบียนการค้าเอกสารหมาย จ.2 แต่จำเลยนำสืบพยานโต้เถียงโดยมีนายจรัล คงสงค์แรงงานจังหวัดนครราชสีมาเป็นพยานเบิกความว่าพยานได้ดำรงตำแหน่งแรงงานจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ปี 2517-2524 ขณะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นนายบุญส่ง สุดประเสริฐ เป็นผู้รับอนุญาตจัดหางาน มีสำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม. ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นตามใบอนุญาตจัดหางานเอกสารหมาย ล.2 และเคยขออนุญาตตั้งสำนักจัดหางานชั่วคราวที่กรุงเทพมหานคร พยานได้อนุญาต ตามหนังสือของแรงงานจังหวัดขอนแก่น เอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.11 และพยานได้ส่งสัญญาจ้างและอัตราเงินเดือน ตามเอกสารหมาย ล.13 ถึง ล.15 ให้กรมแรงงานตรวจสอบตามหนังสือสำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่นเอกสารหมาย ล.12 กรมแรงงานได้อนุญาตให้สำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม. ส่งคนงานไปทำงานที่ต่างประเทศได้ แต่ในระยะหลังนายซายิด ซาลิม ผู้ว่าจ้างได้หลบหนีไป คนงานจึงไม่ได้ไปทำงานยังต่างประเทศ ศาลฎีกา เห็นว่า นางสาวกัลยาพยานโจทก์และนายจรัลพยานจำเลยเบิกความเจือสมกันว่า นายบุญส่ง สุดประเสริฐได้รับอนุญาตให้จัดหางานและนายจรัลอนุญาตให้ตั้งสำนักจัดหางานชั่วคราว ณ เลขที่ 50/307 ซอย 60 เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการคัดเลือกคนงาน และจำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของนายบุญส่งผู้จัดการสำนักงานหางานเอส.ที.เอ็ม.ตามหนังสือรับรองการเป็นลูกจ้างชั่วคราว เอกสารหมาย ล.1คดีจึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของนายบุญส่งผู้จัดการสำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม. ที่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานได้แล้วการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ดังโจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าจำเลยร่วมกับพวกฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของนายบุญส่งผู้จัดการสำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม. ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม2523 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2524 ผู้เสียหายได้ไปสมัครทำงานยังต่างประเทศกับจำเลย จำเลยได้รับเงินของผู้เสียหายไว้ รวมเป็นเงิน212,500 บาท ยังได้ความเพิ่มเติมจากนายวิรัตน์ บุญแพงนายเทียน เจนการ นายร่วง สัตย์ธรรม นายหรั่ง พลีคาม และนายจุ่น สุขสำราญ พยานโจทก์ว่า พยานทั้งห้าได้ไปที่บริษัทเอส.ที.เอ็ม. สแตนดาร์ดไทยแมนเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งมีป้ายชื่อและประกาศโฆษณารับสมัครคนงานไปต่างประเทศ ตำแหน่งต่าง ๆ จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการได้บอกพยานว่า หากต้องการไปทำงานยังต่างประเทศต้องวางเงินค่าบริการแก่จำเลยเป็นเงินคนละ 25,000 บาท พยานแต่ละคนต่างนำเงินไปมอบแก่จำเลย เมื่อถึงกำหนดพยานทั้งห้ามาพบจำเลย จำเลยพูดผัดผ่อน ต่อมาจำเลยปิดบริษัทและหลบหนี ผู้เสียหายจึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน ส่วนจำเลยนำสืบว่านายบุญส่งได้ติดต่อกับสำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่นเพื่อขอส่งคนงานไปทำงานยังต่างประเทศ ตามเอกสารหมาย ล.12 ภายหลังสำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่นอนุมัติให้สำนักจัดหางานเอส.ที.เอ็ม.ดำเนินการ จำเลยได้จัดรับสมัครคนงานที่ต้องการจะไปทำงานยังต่างประเทศแล้วจัดสอบคนงานตามตำแหน่งงานในเอกสารหมาย ล.15จำเลยจึงรับเงินจากคนงานซึ่งเป็นเงินค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าจัดทำวีซ่า เมื่อจำเลยได้รับเงินจากคนงานทั้งหมดแล้ว จำเลยมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้นายซายิด ซาลิม ไป ปรากฏว่านายซายิด ซาลิมได้หลบหนีออกนอกประเทศไทยไปพร้อมกับจำนวนเงินดังกล่าว เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยพากันไปสมัครงานกับจำเลยโดยจำเลยเรียกเงินค่าบริการ พยานโจทก์ก็จ่ายไปให้เชื่อว่าเบิกความตามจริง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวของนายบุญส่งประกาศโฆษณารับสมัครคนงานไปทำงานยังต่างประเทศแก่ประชาชนที่สำนักจัดหางานชั่วคราวณ บริษัทเอส.ที.เอ็ม. สแตนดาร์ดไทยแมนเพาเวอร์ จำกัด จนผู้เสียหายหลงเชื่อไปสมัครงานกับจำเลย ตามที่จำเลยประกาศ จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายแล้ว ถึงกำหนดผู้เสียหายไม่ได้ไปทำงาน จำเลยปิดบริษัทและหลบหนีไป ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำการตั้งสำนักจัดหางานชั่วคราวเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและประกาศรับสมัครงานโดยเรียกค่าบริการทำให้ประชาชนหลงผิด แม้จำเลยจะอ้างว่าได้ทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.13ถึง ล.15 ก็มีแต่จำเลยกับนายซายิด ซาลิม เท่านั้น ที่รู้ข้อความดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายมาสมัครงานและเสียค่าบริการแก่จำเลยแล้วถึงกำหนดจำเลยไม่สามารถส่งผู้เสียหายไปทำงานได้ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่า จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยการหลอกลวงเช่นว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายผู้ถูกหลอกลวง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก, 83 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยข้อนี้ไว้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share