คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3,000,000 บาท จากการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดดาบฟันทำร้ายร่างกายที่คอ ศีรษะและลำตัวของโจทก์ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ต้องพิการทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เยาว์ผู้กระทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ที่ทำละเมิดต้องร่วมรับผิดด้วย ต่อมาในระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยทั้งสามทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยทั้งสามตกลงรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 120,000 บาท ภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2555 หากจำเลยทั้งสามผิดนัด ยินยอมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้นและยินยอมให้โจทก์บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามได้ทันที โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องเงิน ทรัพย์สินหรือสิทธิใด ๆ ต่อกันทั้งในทางแพ่งและทางอาญา โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอบอกล้างนิติกรรมการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอบอกเลิกความยินยอมที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองฉบับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 บอกล้างนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความและจำเลยที่ 3 บอกเลิกความยินยอมที่ให้จำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในชั้นอุทธรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยในวันดังกล่าวโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้เยาว์มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นไม่เป็นศาลเยาวชนและครอบครัว ทั้งไม่ได้รับการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ เห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นนิติกรรมอันมีผลเกี่ยวถึงทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมดังกล่าว ซึ่งหมายรวมถึงทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาลซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายและเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ ได้รับอนุญาตจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปทุมธานี การทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาได้ความดังว่ามานี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share