คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของลูกจ้างเป็นความผิดต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างหรือไม่ ย่อมพิจารณาจากข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นเบื้องต้น และเมื่อได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว การกระทำนั้นจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานประกอบอีกชั้นหนึ่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำร้ายร่างกายนายไพบูลย์ ไชยสิทธิ์พนักงานของจำเลยในระหว่างปฏิบัติงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ไม่เคยกระทำผิด ไม่เคยถูกตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน ทั้งมิได้ทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำร้ายร่างกายนายไพบูลย์ ไชยสิทธิ์ จนได้รับบาดเจ็บในขณะทำการประชุมปรึกษาเกี่ยวกับการทำงาน อันเป็นการกระทำโดยจงใจ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงและเป็นการกระทำผิดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๒) และ (๓) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ กำหนดไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ ฯลฯ
(๓) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ลูกจ้างได้กระทำความผิดต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างหรือไม่นั้นก็ย่อมพิจารณาจากข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างเป็นเบื้องต้น และเมื่อได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว และการกระทำนั้นจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ก็ย่อมต้องพิจารณาตามข้อ ๔๗ (๓) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) จึงเป็นการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำความผิดต่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงโดยได้วินิจฉัยประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน.

Share