แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยเกินกว่าร้อยละห้าสิบจำเลยจึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามความใน พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4(ข) และ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา4(2).
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือมติของคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ตกอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดว่าห้ามรัฐวิสาหกิจปรับปรุงค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่คิดเป็นตัวเงินได้เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ และต่อมากำหนดเพิ่มเติมว่า ให้รัฐวิสาหกิจหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ผู้แทนของโจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงมีความว่า จำเลยตกลงจะปรับเงินเดือนแก่พนักงานทุกคนคนละ 1 อันดับจากอัตราที่ได้รับอยู่ปัจจุบัน และจำเลยตกลงที่จะเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าชดเชยแทนพนักงานและลูกจ้างซึ่งออกจากงานเนื่องจากถูกเลิกจ้างและสูงอายุ โดยผู้แทนของจำเลยมิได้หารือกระทรวงการคลัง และมิได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี ดังนี้ข้อตกลงทั้งสองข้อดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ แม้การทำข้อตกลงจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยชอบตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ ก็ไม่เป็นเหตุให้เป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้โจทก์จึงจะนำข้อตกลงดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องมิได้ (อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2525).(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยนำข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงาน และบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลง
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงที่โจทก์ขอบังคับ ไม่มีผลใช้บังคับ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ไว้ในมาตรา 4 (ข) ว่า ‘บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ’ และพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ ไว้ในมาตรา 4 (2) ว่า ‘บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวงทบวงกรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า และหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ’ ตามข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟัง ปรากฏว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นส่วนราชการหรือกระทรวงทบวงกรม ถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ฉะนั้นจำเลยจึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามความแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหาใช่ไม่มีกฎหมายรับรองให้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ว่า มติของคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลผูกมัดจำเลย จำเลยมีอำนาจที่จะเจรจาข้อเรียกร้องเรื่องการเงินของจำเลยได้โดยอิสระ เมื่อจำเลยได้แต่งตั้งผู้แทนและที่ปรึกษาเข้าร่วมในการเจรจาทำข้อตกลงกับโจทก์จนเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยไม่นำข้อตกลงไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงาน และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อ 1.3 และข้อ 4 ย่อมเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 18, 131นั้น เห็นว่าจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังจำเลยจำต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่งของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือมติของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ตกอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2524 และวันที่ 12 มกราคม 2525 ตามเอกสารหมายเลข1 และ 2 ท้ายคำให้การ ซึ่งกำหนดว่า ห้ามรัฐวิสาหกิจปรับปรุงค่าจ้าง เงินเดือน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ ต่อมาได้กำหนดเพิ่มเติมเป็นว่า ให้รัฐวิสาหกิจหารือกับกระทรวงการคลังก่อนฉะนั้นเมื่อโจทก์ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย เมื่อวันที่8 มกราคม 2528 รวม 15 ข้อ ข้อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและในวันที่ 11 มกราคม 2528 จำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์รวม 2 ข้อ โจทก์และจำเลยต่างได้แต่งตั้งผู้แทนและที่ปรึกษาเข้าร่วมในการเจรจาผู้แทนของโจทก์และจำเลยได้เจรจาร่วมกันหลายครั้ง ในที่สุดสามารถตกลงกันได้เมื่อวันที่15 พฤษภาคม 2528 จึงได้ทำข้อตกลงกันไว้ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงการเจรจาเอกสารท้ายฟ้อง ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวข้อ 1.3 มีความว่าจำเลยตกลงจะปรับเงินเดือนแก่พนักงานทุกคน คนละ 1อันดับจากอัตราที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปและข้อ 4 มีความว่า จำเลยตกลงที่จะเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าชดเชยแทนพนักงานและลูกจ้างซึ่งออกจากงานเนื่องจากถูกเลิกจ้างและสูงอายุ ผู้แทนของจำเลยทำข้อตกลงดังกล่าวโดยมิได้หารือกระทรวงการคลัง และมิได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหลังจากทำบันทึกข้อตกลงกันแล้วจำเลยยังได้นำข้อตกลงข้ออื่นเว้นแต่ข้อ 1.3 และข้อ 4 ไปจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมแรงงาน แต่อธิบดีกรมแรงงานไม่ยอมจดทะเบียนให้ โดยอ้างว่าจำเลยจะขอจดทะเบียนข้อตกลงเพียงบางส่วนไม่ได้ส่วนข้อตกลงข้อ 1.3 และข้อ 4 จำเลยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 แต่กระทรวงการคลังไม่เห็นชอบด้วยเพราะถือว่าเป็นข้อตกลงซึ่งฝ่าฝืนมติของคณะรัฐมนตรีซึ่งบัญญัติห้ามไว้ ฉะนั้นการที่ผู้แทนของจำเลยทำการตกลงข้อ 1.3และข้อ 4 กับโจทก์ โดยมิได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าสังกัด ข้อตกลงทั้งสองข้อดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ แม้การทำข้อตกลงนั้นจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ก็ไม่เป็นเหตุให้กลับกลายเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้ โจทก์จึงจะนำข้อตกลงข้อ 1.3 และข้อ 4 มาฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายฟ้องไม่ได้ ดังนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2525 คดีระหว่างสหภาพแรงงานพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย โจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับพวก จำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองสำนวนในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน’