คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 26 กำหนดให้คำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนาม หากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 37 เมื่อผู้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่ปรากฏว่าผู้ลงนามได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ กรณีถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) และมาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2548 ตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 1 เลขที่ 3 ลงวันที่ 24 มกราคม 2549 และเพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) เล่มที่ 1 เลขที่ 01 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์จำนวน 56,100 บาท ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การขอยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ใช่การอุทธรณ์หรือการยื่นคำร้องของโจทก์เพราะลายมือชื่อผู้ยื่นคำร้องไม่มีส่วนใดๆ ระบุว่าเป็นการยื่นคำร้องในฐานะอย่างใดของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีหนังสือมอบอำนาจให้นายชัยวัฒน์ผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใด ถือว่าโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินส่วนที่โจทก์ขอให้สัตยาบันการกระทำของนายชัยวัฒน์ไม่อาจกระทำได้เพราะไม่ปรากฏว่านายชัยวัฒน์เป็นตัวแทนของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์การประเมินโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2548 เล่มที่ 1 เลขที่ 3 ลงวันที่ 24 มกราคม 2549 และเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 1 เลขที่ 01 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 56,100 บาท ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนด ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่หรือไม่ เห็นว่า คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนามตามที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 กำหนด และหากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนก็ต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 37 แต่จากทางนำสืบของโจทก์ในประเด็นนี้มีนายชัยวัฒน์มาเบิกความว่า นายชัยวัฒน์เป็นผู้จัดการส่วนบริการลูกค้าจังหวัดลำพูน ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนโจทก์ ในกิจการทั้งหมดและกิจการต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดลำพูน และได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามของโจทก์ มิได้กระทำในฐานะส่วนตัวซึ่งนายชัยวัฒน์ได้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามโจทก์โดยไม่ปรากฏว่านายชัยวัฒน์เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่ปรากฏว่านายชัยวัฒน์ได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันในภายหลังได้ ส่วนที่นายชัยวัฒน์และนายทรงวุฒิผู้จัดการศูนย์บริหารงานกฎหมายเชียงใหม่และเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ เบิกความยืนยันว่านายชัยวัฒน์กระทำการในนามของโจทก์และเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยอ้างสำเนาคำสั่งของโจทก์ที่ รบ.55/2546 เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้บริหารปฏิบัติการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งมีนายอรัญรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้สั่งนั้น ก็ปรากฏตามหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจว่า นายธีรวิทย์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่านายอรัญเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวแทนโจทก์ได้จริงหรือไม่เพียงใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ กรณีถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share