แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ลูกจ้างป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แม้ตามระเบียบธนาคารออมสินจะให้อำนาจนายจ้างปลดลูกจ้างออกจากงานได้เมื่อลูกจ้างลาครบกำหนดระยะเวลาแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงให้สิทธิที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น จะถือว่าลูกจ้างกระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอย่างร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 หาได้ไม่ เมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง
เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ) เป็นเงินที่นายจ้างผูกพันต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามระเบียบของนายจ้าง ส่วนค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ46 บังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างสิทธิของลูกจ้างที่จะได้เงินบำเหน็จและค่าชดเชยจึงกำหนดให้โดยอาศัยกฎหมายและระเบียบต่างกัน ทั้งตามระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งมีเวลาทำงานต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จ จึงเห็นได้ว่า ระเบียบของนายจ้างกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายบำเหน็จแตกต่างกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันเพียงครบ 120 วัน ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วดังนี้เงินทุนเลี้ยงชีพและค่าชดเชยเป็นเงินคนละประเภท การที่นายจ้างจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้ลูกจ้างแล้ว ไม่ทำให้นายจ้างพ้นความรับผิดที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอีก.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุคคลไร้ความสามารถตามคำสั่งศาลและเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ปี 2494 ต่อมาในปี 2530 โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2531 เป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 146,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ จำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ) จำนวน 879,840 บาท ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานให้แก่โจทก์รับไปแล้ว ซึ่งการจ่ายเงินบำเหน็จนี้มีเงื่อนไขอย่างเดียวกับการจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 146,640 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ได้ทำสัญญากับจำเลยว่า ถ้าโจทก์หย่อนความสามารถในการปฏิบัติงานจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 180 ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวนี้ ข้อ 22 ให้อำนาจแก่จำเลยที่จะพิจารณาปลดโจทก์ซึ่งได้ลาป่วยจนครบหลักเกณฑ์แล้วยังไม่สามารถทำงานให้ออกจากงานได้ กรณีของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากเส้นเลือดในสมองตีบ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ แม้ตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 180 ข้อ 22 จะได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่จะปลดโจทก์ออกจากงานได้เมื่อโจทก์ได้ลาครบกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในข้อ 22 นั้นแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงให้สิทธิแก่จำเลยที่จะเลิกจ้างโจทก์เท่านั้น จะถือว่าโจทก์กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 หาได้ไม่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ)ซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้ว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเช่นเดียวกับการจ่ายค่าชดเชย ถือได้ว่าเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง (บำเหน็จ) เป็นเงินซึ่งจำเลยผูกพันต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามระเบียบของจำเลย จำเลยมีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินอย่างไรก็ได้ ส่วนค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 บังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยจึงกำหนดขึ้นโดยอาศัยกฎหมายและระเบียบต่างกัน ทั้งตามระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 67 ว่าด้วยเงินทุนเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารออมสิน ข้อ 11 กำหนดให้พนักงานซึ่งมีเวลาทำงานต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง(บำเหน็จ) จึงเห็นได้ว่า ระเบียบของจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพแตกต่างกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันเพียงครบ 120 วัน ก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว เงินทุนเลี้ยงชีพ (บำเหน็จ) และค่าชดเชยจึงเป็นเงินคนละประเภท การที่จำเลยจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพ (บำเหน็จ) ให้แก่โจทก์แล้วไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน