คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6770/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216
การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนแล้วมีคำวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอย่างใดอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องคดีก่อนแล้วว่าไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลจะลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้ซึ่งถือได้ว่าศาลชั้นต้นคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยโจทก์ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161 วรรคท้าย และมาตรา 198 แต่โจทก์กลับมายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ใหม่โดยบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่ได้บรรยายฟ้องไว้ในคดีก่อนยืนยันว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) แม้โจทก์จะยื่นฟ้องใหม่ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนั้น ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดหัวทะเลโลหะภัณฑ์ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2525 และได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนเมื่อปี 2535 โจทก์ซึ่งเป็นอดีตหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า ภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อสรรพากรอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาทุกปี นับตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจนกระทั่งจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนโดยไม่เคยติดค้างค่าภาษี จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีระดับ 8 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีระดับ 5 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีเจตนาทุจริตคิดชั่วกลั่นแกล้งโจทก์ โดยกล่าวหาโจทก์ว่ากระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 ถึง 31 ธันวาคม 2534 กล่าวหาว่าโจทก์ไม่ส่งเอกสารสำคัญซึ่งจำเป็นต่อการตรวจสอบเพื่อคำนวณหากำไรสุทธิของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ส่งเอกสารรายละเอียดของบัญชีแล้ว ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึง 29 ธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสองกล่าวหาโจทก์อีกว่าไม่นำเอกสารสำคัญอันจำเป็นต่อการตรวจสอบอย่างเพียงพอที่จะคำนวณหากำไรสุทธิของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ส่งเอกสารแสดงรายละเอียดของบัญชีและได้เสียภาษีถูกต้องแล้ว และในเดือนธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสองได้ประเมินภาษีซ้ำซ้อน รวมทั้งค่าปรับและเงินเพิ่มอีกจำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังได้ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนมกราคม 2535 ถึงธันวาคม 2535 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควรถือว่าเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์มีรายได้ประเภทดอกเบี้ยจึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ไม่เคยประกอบกิจการหรือให้ผู้ใดกู้ยืมเงินโดยจำเลยทั้งสองประเมินกล่าวหาโจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐานและเป็นความเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียชื่อเสียงในฐานะพ่อค้าผู้ค้าขายโดยสุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1244/2542 หมายเลขแดงที่ 1064/2542 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าไม่ได้กระทำความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดอย่างไร ถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับข้อที่โจทก์ตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาอ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามฟ้องว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ใหม่ซึ่งกรณีตามฎีกาของจำเลยทั้งสองนี้หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองส่งขึ้นมาให้ศาลฎีกาพิจารณาจึงชอบแล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงข้อเดียวว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1244/2542 หมายเลขแดงที่ 1064/2542 ของศาลชั้นต้น อันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) หรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองนี้ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีเดียวกับคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้วตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1244/2542 หมายเลขแดงที่ 1064/2542 ของศาลชั้นต้น และในชั้นตรวจคำคู่ความคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่า ในคำฟ้องมิได้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอย่างใด อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดให้ยกฟ้อง” โจทก์มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว แต่โจทก์กลับยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่ภายในกำหนดอายุความอุทธรณ์ ศาลฎีกาได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1244/2542 หมายเลขแดงที่ 1064/2542 ของศาลชั้นต้นแล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2542 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ (ตรวจสอบภาษี) ทั่วราชอาณาจักรได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาทุจริตคิดชั่วกลั่นแกล้งกล่าวหาโจทก์ต่างกรรมต่างวาระกล่าวคือเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 กล่าวหาโจทก์ว่าไม่ส่งเอกสารสำคัญอันจำเป็นต่อการตรวจสอบอย่างเพียงพอที่จะคำนวณหากำไรสุทธิของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ส่งเอกสารรายละเอียดของบัญชีในปีดังกล่าวและเสียภาษีถูกต้องแล้ว และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 กล่าวหาโจทก์ว่าไม่นำเอกสารสำคัญอันจำเป็นต่อการตรวจสอบอย่างเพียงพอที่จะคำนวณหากำไรสุทธิของกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ทั้ง ๆที่โจทก์ได้จัดส่งเอกสารรายละเอียดของบัญชีและเสียภาษีโดยถูกต้องแล้ว ต่อมาในเดือนธันวาคม 2535 จำเลยทั้งสองได้ประเมินภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีในปี 2535 รวมทั้งเงินเพิ่มและค่าปรับจำนวนมากโดยกล่าวหาโจทก์ว่า มียอดขายในเดือนดังกล่าวสูงถึง2,497,972.43 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ขาย (สินค้า) ได้เพียง 957,450 บาท และโจทก์เสียภาษีถูกต้องแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองประเมิน ไม่มีหลักฐานแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังได้ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนมกราคม 2535 ถึงธันวาคม 2535 โดยกล่าวหาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดหัวทะเลโลหะภัณฑ์ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนกู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุสมควรถือว่าเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ต้องมีรายได้ประเภทดอกเบี้ยซึ่งต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ความจริงแล้วห้างหุ้นส่วนดังกล่าวไม่เคยประกอบกิจการให้ผู้ใดกู้ยืมเงิน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนแล้วมีคำวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอย่างใด อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เท่ากับว่าศาลชั้นต้นได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาการกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องคดีก่อนแล้วว่าไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องไม่ได้ซึ่งถือได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำสั่งตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 วรรคท้าย และมาตรา 198 บัญญัติไว้ แต่โจทก์กลับมายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่โดยบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในคดีก่อนยืนยันว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีก ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) แม้โจทก์จะยื่นฟ้องใหม่ภายในระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนั้น ก็ไม่ทำให้เกิดสิทธิที่จะฟ้อง จึงชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์เสีย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share