แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 108 วรรคแรก แต่ถ้าไม้ยืนต้นนั้น ผู้ปลูกมีเจตนาจะปลูกลงในที่ดินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเพียงชั่วคราว ย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 109
จำเลยตกลงให้ผู้ร้องปลูกต้นสนลงในที่ดินของจำเลย เมื่อต้นสนโตเต็มที่จะตัดขายเอาเงินมาแบ่งกัน ต้นสนไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน แต่เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง จำเลยนำที่ดินไปจำนองไว้กับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาจากต้นสนส่วนของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้ร้องมีสิทธิขอกันส่วนได้
(วรรคแรก วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1/2532)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน ๕๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินที่จำนองกับโจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอบังคับคดีเจ้าพนักงานบัคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์เพื่อขายทอดตลาด
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า ต้นสนที่ปลูกบนที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้องทั้งสองร่วมกับจำเลย โดยเป็นของผู้ร้อง ๙๕ เปอร์เซ็นต์เป็นของจำเลย ๕ เปอร์เซ็นต์ ขอให้กันส่วนของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗
โจทก์คัดค้านว่าต้นสนเป็นของจำเลย และเป็นไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำเลยจำนองไว้กับโจทก์ สัญญาจำนองระบุครอบคลุมถึงต้นสนด้วย สิทธิของผู้ร้องเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันผู้รับจำนองไม่ได้ ผู้ร้อง ไม่มีผลประโยชน์ในต้นสนดังกล่าวถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้กับส่วนของผู้ร้องทั้งสองจากการขายทอดตลาดต้นสนในที่ดินของจำเลยที่ถูกยึดเป็นเงิน ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของราคาที่ขายได้ให้แก่ผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามที่ผู้ร้องและโจทก์นำสืบรับกันว่า มีการปลูกต้นสนลงในที่ดินของจำเลยเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และตามสัญญาจำนองท้ายฟ้องมีว่า นอกจากจำนองที่ดินแล้วให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่มีอยู่แล้วหรือจะมีขึ้นภายหน้าจำนองด้วยทั้งสิ้นและให้ถือสัญญษจำนองนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมอีกด้วย ปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิมาขอกันส่วนตามคำร้องหรือไม่โดยโจทก์อ้างว่าต้นสนเป็นไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบของที่ดินจึงเป็นของจำเลยและอยู่ในบังคับตามสัญญาจำนองด้วย ผู้ร้องไม่มีสิทธิมาขอกันส่วน ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ต้นสนจะเป็นไม้ยืนต้นซึ่งนับได้ว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ปลูกไม้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๘ วรรคแรก ก็ตาม แต่ถ้าไม่ยืนต้นนั้นผู้ปลูกมีเจตนาจะปลูกลงในที่ดินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัดเพียงชั่วคราว ย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินเพียงชั่วคราว ไม่กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๙ ตามหนังสือสัญญาการลงทุนปลูกต้นสน ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๙ เอกสารหมาย ร.๑ ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นดังที่ให้การต่อสู้ไว้ และฟังได้ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องนั้นเรียกฝ่ายผู้ร้องว่าเป็นฝ่ายลงทุน เรียกจำเลยเป็นฝ่ายเจ้าของที่ดิน ให้ใช้ที่ดินของจำเลยเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ เป็นที่ปลูกต้นสน มีเงื่อนไขตามสัญญาข้อ ๑ และข้อ ๒ ข้อความว่าในการถางป่าและปรับปรุงพื้นที่ปลูกต้นสน ฝ่ายผู้ร้องเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนแล้วเสร็จและเป็นผู้ลงทุนซื้อพันธุ์กิ่งสนทั้งหมดประมาณ ๔๕,๐๐๐ กิ่ง มาปลูกในที่ดินตามเนื้อที่ในสัญญา สัญญาข้อ ๔ ว่า การลงทุนในกรณีพิเศษเช่นเครื่องมือในการทำไร่และใช้ในการทำป่าสนหรือปุ๋ยและเคมีบางอย่างให้ตกลงกันต่างหาก ถ้าจำเป็นต้องซื้อและสัญญาข้อ ๕ ว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาอย่างช้า ๘ ปี อย่างเร็ว ๖ ปี เมื่อต้นสนโตเต็มที่พร้อมที่จะตัดทำผลประโยชน์ได้แล้ว ฝ่ายผู้ร้องจะเป็นผู้พาผู้อื่นมาประเมินราคาเอง และจะแบ่งผลประโยชน์ให้แก่จำเลยตามจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ประเมินขายไปให้จำเลยได้รับ ๕ เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ ดังนี้ ตามเอกสารหมาย ร.๑ เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการใช้ที่ดินของจำเลยชั่วคราวเพียงระยะหนึ่ง เพื่อปลูกต้นสน เมื่อต้นสนใดเต็มที่พร้อมที่จะตัดได้ในระยะเวลาตามสัญญาข้อ ๕ ก็จะต้องตัดขายนำเงินมาแบ่งเป็นผลประโยชน์ให้จำเลยฐานะเจ้าของที่ดิน ต้นสนที่ผู้ร้องปลูกลงในที่ดินของจำเลยชั่วระยะเวลาหนึ่งเป็นการชั่วคราวไม่ใช่ให้อยู่ถาวรติดกับที่ดินตลอดไป จึงเป็นทรัพย์ที่ติดกับที่ดินเพียงชั่วคราวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๙ ไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่จำเลยนำไปจำนองไว้แก่โจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย ร.๑ ประกอบกับทางนำสืบของผู้ร้องฟังได้ว่าต้นสนเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง โดยฝ่ายผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในต้นสนรายนี้ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาจากส่วนของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันส่วนได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น