คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อสัญญาให้โจทก์มีหน้าที่ติดตามรวบรวมทรัพย์สินของ อ.เพื่อนำเข้ากองทรัพย์สินของ อ. และระบุถึงมูลเหตุที่ทำให้จำเลยยินยอมจ่ายค่าบำเหน็จให้โจทก์ว่า การรวบรวมทรัพย์สินมีความ ยากลำบากต่อการสืบเสาะค้นหาทรัพย์สินและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง การทำงานของโจทก์จึงกระทำไปเพื่อ ประโยชน์ของจำเลยและเจ้าหนี้อื่นโดยตรง ข้อสัญญาจึงมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นสัญญาจ้างทำของ แต่เป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้ประเภทหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรรมการเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.93/2529 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เป็นลูกหนี้ (จำเลย) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายเอกยุทธที่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทำสัญญากับโจทก์ว่า หากจำเลยได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งต่อ ๆ ไป นับแต่วันลงชื่อในหนังสือสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยยอมจ่ายค่าบำเหน็จแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของเงินส่วนแบ่งที่จำเลยจะพึงได้รับจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ หลังจากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ให้มากที่สุด โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของลูกหนี้ และต่อมาจำเลยได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงิน 7,964,885 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าบำเหน็จแก่โจทก์เป็นเงิน 398,244 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นวันผิดนัดคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,920 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 416,165 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน398,244 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ในการที่จำเลยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.93/2539 (ที่ถูกเป็น ล.93/2529) โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวได้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของจำเลยและดำเนินการในเชิงเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยตลอดมา เมื่อใกล้จะมีการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ โจทก์พูดในทำนองฉ้อฉลจำเลยว่าโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายทุกชนิดทุกประเภทในคดีดังกล่าวเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายตอบแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อจะให้ได้รับเงินตามคำขอรับชำระหนี้เร็วขึ้น จำเลยเกรงว่าโจทก์จะดำเนินการในทางเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยอีกจึงต้องทำสัญญายินยอมจ่ายค่าบำเหน็จแก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งจำเลยทราบภายหลังว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทุกราย และโจทก์ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไปแล้ว สัญญายินยอมจ่ายค่าบำเหน็จย่อมเป็นโมฆียะและจำเลยบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าการดำเนินการของโจทก์แล้วเสร็จเมื่อใดจำเลยได้รับเงินเมื่อใด ค่าใช้จ่ายที่อ้างว่ามีจำนวนมากมีอะไรบ้าง ฟ้องจึงเคลือบคลุมค่าบำเหน็จหากมีก็เหมือนค่าจ้างทำของซึ่งโจทก์ได้รับไปแล้วดังกล่าว ในส่วนอื่น ๆ ถ้ามีก็ไม่เกิน 5,000 บาทขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 398,244 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2539 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 สิงหาคม 2539) ไม่เกิน 17,920 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจากกองทรัพย์สินของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ลูกหนี้ จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.4 ให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวว่า “ข้าพเจ้านาวาอากาศเอกภิญโญ วิทยาภรณ์ ในฐานะผู้เสียหาย และมีสิทธิได้รับชำระหนี้เฉลี่ยคืนตามคำสั่งในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.93/2529ระหว่างนาวาอากาศโทอุดม อิศรางกูร ณ อยุธยา โจทก์กับนายเอกยุทธอัญชันบุตร จำเลย เนื่องจากการรวบรวมทรัพย์สินของโจทก์เพื่อนำเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) นั้นมีความยากลำบากต่อการสืบเสาะค้นหาทรัพย์สินและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอให้สัญญาว่าในกรณีที่ข้าพเจ้าได้รับส่วนแบ่งในการชำระหนี้ครั้งต่อ ๆ ไปนับแต่วันลงชื่อในหนังสือยินยอมจะจ่ายเป็นค่าบำเหน็จความชอบในการดำเนินการฉบับนี้ข้าพเจ้ายินดีและยินยอมจ่ายให้โจทก์เป็นเงินร้อยละห้า (5%) ของเงินส่วนแบ่งที่ข้าพเจ้าจะพึงได้รับ” หลังจากนั้นจำเลยได้รับแบ่งทรัพย์ในคดีล้มละลายดังกล่าวเป็นเงิน 7,964,884.80 บาท ตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.3 แต่จำเลยไม่ยอมชำระเงินให้โจทก์ตามสัญญามีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.4 เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือเป็นโมฆียะเพราะโจทก์ฉ้อฉลและจำเลยได้บอกล้างจึงตกเป็นโมฆะแล้วหรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเพียงข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ติดตามรวบรวมทรัพย์สินของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เพื่อนำเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้และในสัญญาดังกล่าวยังได้ระบุถึงมูลเหตุที่ทำให้จำเลยยินยอมจ่ายค่าบำเหน็จให้โจทก์ว่าการรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวมีความยากลำบากต่อการสืบเสาะค้นหาทรัพย์สินและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง การทำงานของโจทก์จึงกระทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยและเจ้าหนี้อื่นโดยตรง ข้อสัญญาดังกล่าวจึงมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยทำสัญญาดังกล่าวไปเพราะถูกกลฉ้อฉลนั้น ในประเด็นข้อนี้จำเลยอ้างตนเป็นพยานเบิกความไว้แต่เพียงว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำหนังสือยินยอมจะจ่ายเงินค่าบำเหน็จความชอบในการดำเนินการให้แก่โจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเอกสารดังกล่าวได้ทำขึ้นขณะข้าพเจ้ากำลังจะได้รับเงินส่วนแบ่งในการชำระหนี้ครั้งที่สอง โดยโจทก์ได้มาติดต่อกับข้าพเจ้าและบอกว่าจะทำให้ได้รับเงินเร็วขึ้นโดยโจทก์อ้างว่าจะเป็นผู้ไปวิ่งเต้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งจะเสียค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นให้ด้วย และยังบอกอีกว่าหากไม่เซ็นชื่อในเอกสารดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ” เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวขัดกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.4 และข้อความตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น จำเลยได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า “ในการจัดทำเอกสารหมาย จ.4 ได้จัดทำขึ้นที่ทำงานของข้าพเจ้าโดยโจทก์เป็นผู้ไปหาข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียวและข้อความที่กรอกในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือของข้าพเจ้าทั้งสิ้น” จึงน่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อความในเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยมอบให้โจทก์มีหน้าที่ติดตามสืบเสาะ ค้นหา และรวบรวมทรัพย์สินของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เพื่อนำเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ การทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 จึงมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากกลฉ้อฉลของโจทก์ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานแล้วเสร็จ รวมทั้งเวลาที่จำเลยได้รับเงินซึ่งเป็นเวลาที่เริ่มต้นในการที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องคดีและค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นฐานสำคัญในการคำนวณสินจ้างนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาจึงไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ลักษณะของงานที่โจทก์ทำเป็นการจ้างทำของเมื่อโจทก์ทำงานโดยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงเล็กน้อยตามหน้าที่โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จไม่เกิน 5,000 บาท นั้น เห็นว่าหนังสือยินยอมเอกสารหมาย จ.4 นั้น เป็นเพียงสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้ประเภทหนึ่งมิได้เป็นสัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยอ้างดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยได้กระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับได้และจำเลยจะต้องรับผิดตามข้อตกลงในสัญญานั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share