คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยไม่พิจารณาคำว่า “VALENTINO” ที่จำเลยร่วมได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำนี้เป็นของตนแต่ผู้เดียว เพราะการที่จำเลยร่วมปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นของตนแต่ผู้เดียวนั้นมีผลเพียงไม่อาจห้ามผู้อื่นมิให้ใช้คำว่า “VALENTINO” เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้คำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมกลายเป็นคำที่มิได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
แม้ว่ารายการสินค้าของโจทก์และจำเลยร่วมจะเป็นสินค้าคนละชนิดกัน แต่อยู่ในรายการสินค้าจำพวกที่ 21 เช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็นสินค้าอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัวกับเป็นสินค้าเครื่องสุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ จึงเป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเพราะผู้ใช้เป็นบุคคลในครัวเรือนกลุ่มเดียวกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองมีลักษณะการวางตัวอักษร “V” และคำว่า “Valentino” คล้ายกันมาก ส่วนการประดิษฐ์ตัวอักษร “V” แม้จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเพราะยังคงอ่านได้ว่า “วี” เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า “วี วาเลนติโน่ รูดี้” ส่วนของจำเลยร่วมเรียกขานได้ว่า “วี วาเลนติโน่” ตัวอักษร “V” และคำว่า “Valentino” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เมื่อใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมแล้ว หากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนต่อไปว่าสมควรจะรับจดทะเบียนหรือไม่ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ นั้นว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนสมควรรับจดทะเบียนหรือไม่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เท่านั้น เพราะมาตรา 13 อยู่ในบังคับของมาตรา 27 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่อาจพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนว่าหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายทั่วไปแล้วในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ไม่เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 13 และ 27
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นต่างคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตกรณีหนึ่ง หรือหากนายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียนอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วย ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1161/25550 ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 329759 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา วาเลนติโน เอส.พี.เอ. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1161/2550 โดยให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 329759 ของโจทก์ต่อไป โดยอาจกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และขอบเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นหรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรกำหนดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ก็ได้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยทั้งสิบ และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
จำเลยทั้งสิบยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า คำพิพากษาของศาลนี้เป็นกรณีที่ไม่มีการบังคับคดีโดยเด็ดขาด จึงไม่อาจมีการทุเลาการบังคับได้ ไม่รับคำร้องของจำเลยทั้งสิบ
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยทั้งสิบต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่นายยาซูฮิโร ยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 21 รายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้น มีด ส้อม และช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุดตามคำขอเลขที่ 329759 เอกสารหมาย จ. 4 คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 21 รายการสินค้า ที่ใส่สบู่และราวหรือชั้นวางผ้าขนหนูที่ทำด้วยโลหะ และกล่องทำด้วยโลหะสำหรับจ่ายกระดาษชำระ ตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 เอกสารหมาย จ.12 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงที่มีบุคคลจำนวนมากนิยมนำคำว่า “VALENTINO” มาจดทะเบียนเป็นภาคส่วนในเครื่องหมายการค้าย่อมมีผลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและมีผลต่อการพิจารณาความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า “VALENTINO” เป็นภาคส่วนด้วย คำว่า “VALENTINO” ที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.12 ของจำเลยร่วมเป็นภาคส่วนที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นชื่อตัวหรือชื่อสกุลที่ไม่ได้แสดงในลักษณะพิเศษ แต่คำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏให้เห็นเป็นลายมือชื่อ จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง จำเลยร่วมได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นของตนแต่ผู้เดียวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.12 ดังนี้ การพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมจึงเหลือเฉพาะในภาคส่วนรูปประดิษฐ์ในเครื่องหมายทั้งสองดังกล่าวเท่านั้น รายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมตามเอกสารหมาย จ.12 แตกต่างกับรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และมิได้มีลักษณะอย่างเดียวกัน ข้อความว่า “ที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน” ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 ต้องนำมาใช้บังคับทั้งในกรณีที่สินค้าจำพวกเดียวกันและสินค้าต่างจำพวกกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เห็นว่า ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ที่นายยาซูฮิโรยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 21 รายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้น มีด ส้อม และช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุดตามคำขอเลขที่ 329759 เอกสารหมาย จ.4 คล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 21 รายการสินค้า ที่ใส่สบู่และราวหรือชั้นวางผ้าขนหนูที่ทำด้วยโลหะ และกล่องทำด้วยโลหะสำหรับจ่ายกระดาษชำระตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 เอกสารหมาย จ.12 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาเฉพาะภาคส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยไม่พิจารณาคำว่า “VALENTINO” ที่จำเลยร่วมได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำนี้เป็นของตนแต่ผู้เดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้ เพราะการที่จำเลยร่วมปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิในคำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นของตนแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 นั้นมีผลเพียงให้จำเลยร่วมไม่อาจหวงกันโดยใช้คำว่า “VALENTINO” เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของตนแต่เพียงผู้เดียวได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่อาจห้ามผู้อื่นมิให้ใช้คำว่า “VALENTINO” เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้เท่านั้น ไม่มีผลทำให้คำว่า “VALENTINO” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมกลายเป็นคำที่มิได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าว ส่วนปัญหาว่ารายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้น มีด ส้อม ช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุดในจำพวกที่ 21 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 329759 เอกสารหมาย จ.4 กับรายการสินค้าที่ใส่สบู่และราวหรือชั้นวางผ้าขนหนูที่ทำด้วยโลหะและกล่องทำด้วยโลหะสำหรับจ่ายกระดาษชำระในจำพวกที่ 21 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 42334 เอกสารหมาย จ.12 เป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ในข้อนี้แม้ว่ารายการสินค้าตามคำขอเลขที่ 329759 กับรายการสินค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 จะเป็นสินค้าคนละชนิดกัน แต่รายการสินค้าทั้งสองรายการนี้จัดอยู่ในรายการสินค้าจำพวกที่ 21 เช่นเดียวกัน เพียงแต่รายการสินค้าตามคำขอเลขที่ 239759 เป็นสินค้าอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัว ส่วนรายการสินค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 เป็นสินค้าสุขภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำ อย่างไรก็ดี สินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวเป็นสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนเช่นเดียวกัน จึงถือได้ว่าสินค้าทั้งสองรายการนี้เป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเพราะผู้ใช้สินค้าทั้งสองรายการดังกล่าวเป็นบุคคลในครัวเรือนกลุ่มเดียวกัน หากเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายนั้นมีลักษณะคล้ายกันย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่สาธารณชนผู้ใช้สินค้าทั้งสองรายการนั้นในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ดังนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวม ลักษณะเด่นและสำเนียงเรียกขานของคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 329759 และของจำเลยร่วมตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 ประกอบกับรายการสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้แล้วเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีลักษณะการวางตัวอักษร “V” และคำว่า “Valentino” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือคำว่า “Valentino” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคล้ายกันมากโดยวางตัวอักษร “V” ไว้ด้านบนเหนือคำว่า “Valentino” หรือ “Valentino” เหมือนกัน การประดิษฐ์ตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแม้จะแตกต่างกับการประดิษฐ์ตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมซึ่งอยู่ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนทั้งสี่ด้านอยู่บ้าง แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยเพราะตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าทั้งสองยังคงอ่านได้ว่า “วี” เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรียกขานได้ว่า “วี วาเลนติโน รูดี้” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเรียกขานได้ว่า “วี วาเลนติโน” ตัวอักษร “V” และคำว่า “Valentino” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับตัวอักษร “V” และคำว่า “Valentino” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมเป็นส่วนอันเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เมื่อนำเครื่องหมายการค้าทั้งสองมาใช้กับสินค้าในจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 329759 เอกสารหมาย จ.4 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมตามทะเบียนเลขที่ ค 42334 เอกสารหมาย จ.12 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบและจำเลยร่วมว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 1161/2550 ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่าหลักฐานที่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายทั่วไปแล้วในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 นั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏแสดงถึงการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 มาเป็นเวลายาวนานแสดงถึงพฤติการณ์แห่งความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเหตุให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นั้นชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 27 ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 วินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 329759 คล้ายเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค 42334 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 แล้ว หากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 ต่อไปว่าสมควรจะรับจดทะเบียนหรือไม่ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ นั้นว่าผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 ซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 13 ดังกล่าวได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสมควรรับจดทะเบียนหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เท่านั้น เพราะมาตรา 13 อยู่ในบังคับของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่อาจพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 ว่าหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอที่จะแสดงว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือมีความแพร่หลายทั่วไปแล้วในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปได้ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการพิจารณาลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามเด็ดขาดไม่ให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ไม่เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 13 และ 27 แต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1161/2550 จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 13 และ 27 ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในปัญหาต่อไปที่ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ปรากฏแสดงถึงการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 329759 มาเป็นเวลายาวนานอันเป็นการแสดงพฤติการณ์แห่งความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเหตุให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์ได้โดยชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกันดังเช่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 329759 ในคดีนี้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวได้ในกรณีหนึ่งใน 2 กรณี ดังนี้คือ หากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 329759 กับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วผู้ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 329759 และจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นต่างคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต กรณีหนึ่ง หรือหากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียน อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งการที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของแต่ละคนมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตนั้น ต้องเป็นกรณีที่ต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ส่วนกรณีมีพฤติการณ์พิเศษก็ต้องเป็นกรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าที่ระบุในคำขอจดทะเบียนไม่ว่าจะเป็นการใช้กับตัวสินค้าหรือเป็นการใช้โดยโฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยมาก่อนที่ผู้ขอจดทะเบียนจะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคุ้มครองแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าต้องได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนภายในอาณาเขตประเทศไทยด้วยผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในผล ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏแสดงถึงการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 329759 มาเป็นเวลายาวนาน แสดงถึงพฤติการณ์แห่งความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเหตุให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบฟังไม่ขึ้น แต่อุทธรณ์ของจำเลยร่วมฟังขึ้นบางส่วน
เมื่อได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสิบ และจำเลยร่วมดังกล่าวข้างต้นแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยทั้งสิบต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และยกอุทธรณ์คำสั่งที่จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนอุทธรณ์คำสั่งทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสิบ นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share