แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนอาญา คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนอาญา อันมีผลทำให้ไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะในส่วนอาญาให้จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษต่อไปอีก
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอก และทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แต่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้อง ทั้งโทษตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ก็หนักกว่าโทษตามมาตรา 352 และมาตรา 358 ที่โจทก์ฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 358 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณาวัดศรีธงชัย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (ที่ถูก มาตรา 335 (7) วรรคแรก), 358 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (ที่ถูก มาตรา 335 (7) วรรคแรก) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนไม้ที่ร่วมกันรื้อถอนจากอาคารของโจทก์ร่วม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 300,000 บาท
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุก 2 ปี ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 74/2554 ของศาลชั้นต้น บวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษ และไม่คุมความประพฤติจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ มาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนอาญา คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนอาญา อันมีผลทำให้ไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะในส่วนอาญาให้จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษอีกต่อไป
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอก และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ มาตรา 358 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตาม มาตรา 335 (7) วรรคแรก ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้อง ทั้งโทษตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ก็หนักกว่าโทษตามมาตรา 352 และมาตรา 358 ที่โจทก์ฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ประกอบมาตรา 83 โทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะส่วนอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6