แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตอนจำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากผู้เสียหาย จำเลยบอกว่าเป็นสร้อยข้อมือที่จำเลยสั่งทำเองโดยมีน้ำหนักมากกว่าปกติเพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาไว้ แสดงว่าสร้อยข้อมือดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือนั้นเป็นทองคำปลอมและจำเลยพูดจาหว่านล้อมหลอกลวงจนผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จต่อมาเมื่อปรากฏว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือเป็นของภริยาจำเลยและจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอมจึงเชื่อไม่ได้ส่วนการที่จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริงในใบสัญญาขายฝาก หรือยอมให้ตรวจสอบสร้อยข้อมือในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟนั้น เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันจะเกิดขึ้นภายหลังว่าจะเป็นประการใด ทั้งการที่จำเลยยินยอมจ่ายเงิน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหายโดยมีบุคคลทำหนังสือค้ำประกันเพื่อไม่เอาความแก่กันย่อมเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นอย่างดี พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงนายจุมพฏ ลิขิตวัฒนาไพศาล ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยนำสร้อยข้อมือทองปลอมน้ำหนักประมาณ 62.2 กรัม จำนวน 1 เส้น ของกลาง มาขายฝากแก่ผู้เสียหาย และแจ้งแก่ผู้เสียหายว่าเป็นสร้อยข้อมือทองคำ อันเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อยอมรับซื้อของกลาง และจำเลยได้ไปซึ่งเงินสดจำนวน 20,000 บาท จากผู้เสียหายโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 33 ริบของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 2 เดือน ริบของกลางและให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง คืนของกลางให้แก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในสำนวนฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่ดังโจทก์กล่าวหา จำเลยนำสร้อยข้อมือของกลางมาขายฝากแก่ผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นทองคำแท้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงรับซื้อฝากไว้ในราคา 20,000 บาท ตามใบสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาภายหลังมีการตกลงขายขาดของกลางดังกล่าว เมื่อตรวจสอบโดยใช้ไฟลนแล้ว ปรากฏว่าของกลางดังกล่าวเป็นทองคำปลอม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายพยานโจทก์ว่าจำเลยบอกผู้เสียหายว่า สร้อยข้อมือของกลางที่จำเลยนำมาขายฝากนี้จำเลยเป็นผู้สั่งทำเอง ทั้งจำเลยยังบอกผู้เสียหายด้วยว่า ที่สร้อยข้อมือของกลางมีน้ำหนักมากกว่าปกติ เพราะอาจมีการชุบเคลือบหนาได้ แสดงว่าสร้อยข้อมือของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด ไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยจะไม่รู้ว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยจึงพูดจาหว่านล้อมอันเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อได้เป็นผลสำเร็จ ครั้นเมื่อความปรากฏในภายหลังว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นทองคำปลอม จำเลยกลับต่อสู้ว่าสร้อยข้อมือของกลางเป็นของภริยาจำเลยได้มาจากการแต่งงาน ซึ่งจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นทองคำปลอมซึ่งเชื่อไม่ได้ส่วนที่ได้ความว่า จำเลยใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลตามความเป็นจริงในใบสัญญาขายฝากเอกสารหมาย จ.1 ก็ดี หรือยอมให้ตรวจสอบของกลางในชั้นขายขาดโดยวิธีลนไฟก็ดีเห็นว่า เป็นเรื่องตามปกติวิสัยของผู้ที่มีเจตนาทุจริตที่ยอมกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลร้ายอันเกิดขึ้นภายหลังว่าจะเป็นประการใด พฤติการณ์ดังกล่าวหาเป็นพิรุธแก่คดีของโจทก์ไม่อนึ่ง การที่จำเลยยินยอมจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท แก่ผู้เสียหายโดยมีบุคคลทำหนังสือค้ำประกัน เพื่อไม่เอาความแก่กันย่อมเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นอย่างดี พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น