คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลก็ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 เมื่อบังคับคดีแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ.ก็เป็นเรื่องที่จะดำเนินการในขั้นต่อไป เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะกรณีเช่นนี้ต้องนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ มิฉะนั้นคำพิพากษาของศาลก็ไร้ผล
แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้ระบุไว้ว่าให้ใช้มาตราใดโดยเฉพาะ แต่ก็ได้กล่าวไว้ว่าให้นำเอาภาค 4 ลักษณะ 2 หมวด1 มาใช้บังคับ ดังนั้น การจะใช้มาตราใดมาปรับแก่คดีก็เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าเป็นที่น่ารังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัย โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๘, ๖๘ เทศบัญญัติเทศบาลนครกรุงเทพ เรื่องควบคุมการค้าเป็นที่น่ารังเกียจ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕/๒๕๐๐ และขอให้ห้ามจำเลยประกอบการค้าต่อไปด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง ลดรับกึ่งแล้วคงลงโทษปรับ ๕๐ บาท ไม่ชำระ กักขังแทน ห้ามจำเลยประกอบกิจการค้าต่อไปจนกว่าจะได้รับอนุญาต
คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยยังคงประกอบกิจการค้าต่อไป โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสาธารณสุขมาตรา ๖๘ บัญญัติแต่ให้ศาลสั่งห้ามเท่านั้น มิได้บัญญัติต่อไปว่าให้ศาลจัดการอย่างไรต่อไปเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติ คำสั่งห้ามของศาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาคดีอาญา เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะก็ต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับ ถ้าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้การบังคับในคดีอาญานั้นได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วคือในภาค ๖หมวดที่ ๑ มาตรา ๒๔๕ ถึงมาตรา ๒๕๑ ตามมาตรา ๒๔๙ เป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้วว่าให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ในเรื่องใดบ้าง แสดงให้เห็นว่าในการบังคับตามคำพิพากษาคดีอาญานั้นให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ได้เฉพาะเรื่องที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔๙ เท่านั้น นอกจากเรื่องที่กำหนดไว้ จะนำมาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายให้ศาลบังคับจำเลยได้ จึงไม่มีทางที่จะบังคับจำเลยได้ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ และบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลพิพากษาห้ามจำเลยมิให้ประกอบกิจการค้าต่อไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลก็ชอบที่จะบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ แต่ศาลยังไม่ได้ออกคำบังคับคดีให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องว่าจำเลยยังประกอบกิจการค้าอยู่ ขอให้ศาลบังคับจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดี ศาลชอบที่จะบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์ เมื่อบังคับคดีแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการในขั้นต่อไป กรณีเช่นนี้นำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ มิฉะนั้นคำพิพากษาของศาลก็ไร้ผล
ที่จำเลยฎีกาว่าการบังคับห้ามมิให้จำเลยประกอบอาชีพ เป็นการบังคับที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติสาธารณสุขพ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๘ ให้อำนาจศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยประกอบการค้าต่อไปได้ และศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยจะมาคัดค้านในชั้นนี้ไม่ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์มิได้ระบุว่าให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตราใดนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้ระบุไว้ว่าให้ใช้มาตราใดโดยเฉพาะ แต่ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่าให้นำเอาภาค ๔ ลักษณะ ๒ หมวด ๑ มาใช้บังคับ ส่วนจะใช้มาตราใดมาปรับแก่คดีก็เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการต่อไป
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share