คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายพามารดาผู้คัดค้านที่ 3 ไปคลอดที่โรงพยาบาลกับแจ้งว่าเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ออกค่าใช้จ่ายการคลอด และรับกลับจากโรงพยาบาล ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนตลอดมา ทั้งยังพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานโดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 นอกจากนี้ผู้ตายยังเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำ พฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของตนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอก(พิเศษ)วีระชาติ ผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องหรือแต่งตั้งผู้คัดค้านทั้งห้าให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 คัดค้านอีกด้วยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ไม่มีส่วนได้เสียที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 4 ที่ 5เป็นผู้จัดการมรดกของพันเอก(พิเศษ)วีระชาติ อุทยานานนท์ ร่วมกันกับทั้งให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3
ผู้คัดค้านที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3เป็นผู้จัดการมรดกของพันเอก(พิเศษ)วีระชาติ อุทยานานนท์ กับทั้งให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 2กับผู้ตายที่อยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้วหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 3 มีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า ตอนที่ผู้คัดค้านที่ 2 คลอดผู้คัดค้านที่ 3 ผู้ตายเป็นผู้พาผู้คัดค้านที่ 2 ไปคลอดที่โรงพยาบาลคริสเตียนถนนสีลมกับแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ตามสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2/3 ผู้ตายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายการคลอดผู้คัดค้านที่ 3 และรับผู้คัดค้านที่ 2 กับที่ 3 กลับจากโรงพยาบาล และมีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพยานเบิกความได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้ตายเป็นผู้ส่งเสียให้เงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตลอดมา กับผู้คัดค้านที่ 3 มีนางบุญยวันจันทรวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทบางกอกสแกนเดีย จำกัดเป็นพยานเบิกความได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ว่า ตอนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะเข้าทำงานที่บริษัทดังกล่าว ผู้ตายพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปสมัครงานต่อนางบุญยวัน โดยใบสมัครงานระบุว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 ปรากฏตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ค.3/4 นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 3 มีนายบัณฑิต ช่วงสุวนิช และนายจำนง กาญจนวัฒน์ เป็นพยานเบิกความได้ความสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 3อีกด้วยว่า ผู้ตายเคยพาผู้คัดค้านที่ 3 ไปเที่ยวเป็นประจำนายบัณฑิต นายจำนงและเพื่อนคนอื่นของผู้ตายต่างทราบดีว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 3 พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 3ได้ความดังนี้ ส่วนผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เชื่อได้เป็นอย่างอื่น จึงเห็นว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 3 มีน้ำหนักเชื่อได้ตามที่ผู้คัดค้านที่ 3นำสืบมาดังกล่าว และจากพฤติการณ์ที่ผู้ตายปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 3 ดังได้ความตามที่ผู้คัดค้านที่ 3 นำสืบมานั้น เห็นว่าเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า ผู้ตายได้รับรองว่าผู้คัดค้านที่ 3เป็นบุตรของผู้ตายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627คดีจึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share